เปิดวิชั่นเลขาธิการ คนใหม่ สำนักงาน กกพ. “ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์” นำทัพองค์กรรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในยุค Go Green และ Go Digital ลุยสร้างพลังงานสะอาดขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ดันภารกิจการกำกับกิจการพลังงานให้เกิดความเชื่อมั่น และไว้วางใจของสังคมในการกำกับกิจการพลังงานภายใต้ยุทธศาสตร์ Trusted OERC
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการ คนใหม่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ภายหลังเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงาน กกพ. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ว่า หลังจากนี้ไปภาคพลังงานไม่ได้ง่ายเหมือนที่ผ่านมา เพราะมีการเปลี่ยนแปลงและความซับซ้อนเกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากภายในเพียงอย่างเดียวยังมีมาจากภายนอกด้วยอย่างเช่น อย่างเช่นอัตราค่าเชื้อเพลิง อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในแวดวงพลังงาน ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายที่จะเกิดขึ้น เมื่อระดับนโยบายมีการกำหนดนโยบายลงมาจึงเป็นหน้าที่ของสำนักงาน กกพ. จะต้องนำไปกำกับดูแลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับประเทศ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา และในเวทีการประชุม World Economic Forum ได้มีการพูดถึงและเป็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญคือ โลกในยุคต่อไปจะเป็น Go Green กับ Go Digital
“ผมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจที่จะผลักดันให้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่นเดียวกับองค์กรต่างๆ กำลังมีความพยายามปรับตัวไม่ว่าจะเป็นการประกาศนโยบาย Sustainbility ออกมาเกี่ยวกับการมุ่งสู่ความยั่งยืน ในปี 2050 รวมถึงการทำ Digital transformation ที่มีการเกิดขึ้นกับองค์กรอย่างรวดเร็วและแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลต่อการกำหนดพฤติกรรมที่จะเห็นภาคพลังงานที่มีความสะอาดและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้น ดังนั้น กระแสการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี จะเป็นกระแสหลักที่จะทำให้ทั้งภาคนโยบายและภาคการกำกับดูแลต้องใส่ใจดูแลเรื่องเหล่านี้มากขึ้น”
ดร.พูลพัฒน์ กล่าวว่า ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการนำพาสำนักงาน กกพ. เพื่อเป็นหน่วยงานแห่งความเชื่อมั่น และไว้วางใจของสังคมในการกำกับกิจการพลังงานภายใต้ยุทธศาสตร์ Trusted OERC 4 ด้าน ได้แก่
1. Trusted Regulation สร้างความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลกิจการพลังงานด้วยการประสานความร่วมมือกับภาคนโยบาย ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วยการวางบทบาทสำนักงาน กกพ.
เป็นองค์กำกับดูแลกิจการพลังงานภายใต้นโยบาย พร้อมกับจะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้และยกระดับการกำกับดูแลตามภารกิจให้ครบถ้วนและเกิดความยั่งยืน
2. Trusted Research & Innovation ทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ขยายเครือข่ายและแลกเปลี่ยนวิธีการและแนวทางการกำกับกิจการพลังงานกับองค์กรกำกับดูแลด้านพลังงานในต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยร่วมกันกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหล่อหลอมเป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่เหมาะสมต่อการกำกับกิจการพลังงานของไทย
3. Trusted Management มุ่งพัฒนาการบริหารองค์กรให้สามารถกำกับดูแลกิจการพลังงาน ด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ควบคู่กับการยกระดับพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรให้ตอบสนองต่อ การรองรับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งอนาคตที่มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตอบโจทย์ในทุกภารกิจของสังคมทั้งในวันนี้และวันหน้า
4. Trusted Engagement สร้างการมีส่วนในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานและพัฒนาเครือข่ายพันธมิตรการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจต่อพื้นที่ชุมชนอย่างยั่งยืน สื่อสารประชาสัมพันธ์การกำกับกิจการพลังงานอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อมวลชนครอบคลุมทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค
ในส่วนของความท้าทายภาคพลังงานไทยในระยะต่อไปคือ การสร้างความสมดุล ความเป็นธรรม และความเท่าเทียมในการแข่งขัน ทั้งในภาคพลังงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมให้ประเทศ และผู้ประกอบการภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมภาคเอกชน ให้สามารถดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทิศทางพลังงานสะอาดอย่างมีผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งยังมีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อความมีเสถียรภาพและความมั่นคงทางด้านพลังงาน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อต้นทุน ระดับราคาพลังงานของประเทศ
นอกจากนี้ ยังมองว่า กลไกและการแข่งขันในภาคพลังงานเป็นสิ่งที่สำคัญ และจะนำมาซึ่งการกระจายผลประโยชน์จากการแข่งขันไปสู่ประชาชนผู้ใช้พลังงานส่วนใหญ่ของประเทศอย่างเป็นธรรม สำนักงาน กกพ. จึงต้องดูแลความเหมาะสมในการบริหารจัดการสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนให้สอดคล้องตามนโยบาย รวมทั้งการเพิ่มการแข่งขันในภาคพลังงานตามช่วงเวลาที่เหมาะสมควบคู่กันไปด้วย
ดร.พูลพัฒน์ กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบยังคงมีความสำคัญอยู่ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มีความจำเป็นในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ อีกทั้งยังทำหน้าที่ในการรักษาความมีเสถียรภาพและความมั่นคงในระบบไฟฟ้า แต่การบริหารจัดการได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสัดส่วนปริมาณของพลังงานหมุนเวียนที่จะเพิ่มมากขึ้น สำนักงาน กกพ. จึงวางแนวทางในการกำกับดูแลภาคพลังงาน โดยคำนึงถึงทั้งคุณภาพไฟฟ้าที่ดีในระดับราคาที่ยอมรับได้ ควบคู่กับการสร้างการยอมรับในการกำกับกิจการพลังงานและทำให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน ทั้งภาคเศรษฐกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญสุดคือประชาชนผู้ใช้พลังงานส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สำนักงาน กกพ. เป็นที่พึ่งให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
“ในยุคที่ผมเข้ามาทำหน้าที่ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. ได้เตรียมการเข้าไปดูด้านต้นทุนการผลิตให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม และการดูแลระบบส่งไฟฟ้ามีเสถียรภาพและเกิดความมั่นคง ผมจะให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหัวใจสำคัญอันดับแรก เพราะเชื่อว่าการแข่งขันที่ดี และการกำกับดูแลการแข่งขันอย่างเป็นธรรมให้ธุรกิจสามารถดำเนินการอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส นั่นย่อมนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่จะตกไปสู่ประชาชนในรูปของต้นทุนพลังงานที่สามารถตรวจสอบได้ มีความเหมาะสม และให้หลักประกันการทำธุรกิจของภาคธุรกิจในอนาคต ซึ่งสิ่งที่ภาคธุรกิจเป็นห่วงไม่ใช่แค่มีไฟฟ้าราคาถูก แต่ต้องมีไฟฟ้าสะอาดเพียงพอ เพื่อตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กร ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สำนักงาน กกพ. จะต้องทำความเข้าใจ” ดร.พิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย