Saturday, 23 November 2024 - 2:04 am
spot_img
Saturday, 23 November 2024 - 02:04
spot_img

“สนข.-กทม.-ไทย สมายล์ บัส” ร่วมเชื่อมโยงข้อมูลรถเมล์ผ่ารแอปนำทาง

สนข. – กทม.-ไทย สมายล์ บัส ร่วม MOU แชร์ข้อมูลการเดินทางด้วยรถโดยสาร ผ่านแอปพลิเคชั่น นำทาง “นำทาง” (NAMTANG) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน มุ่งเป้าสู่การพัฒนาป้ายรถเมล์-ศาลาที่พักผู้โดยสารอัจฉริยะกว่า 7,000 แห่ง

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลการเดินรถสาธารณะใยเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 

นายปัญญา ชูพานิช  ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อบูรณาการข้อมูลการขนส่งและจราจร จากทั้ง 3 หน่วยงาน เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลการเดินทางรถโดยสารสาธารณะ และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โดย สนข. สนับสนุนข้อมูลเส้นทางการเดินรถ และข้อมูลความหนาแน่นของการจราจร จากแอปพลิเคชัน “นำทาง” (NAMTANG) เพื่อให้ กทม. นำไปประมวลผลร่วมกับพิกัด GPS ของรถโดยสารสาธารณะจาก บจ.ไทยสมายบัส และพัฒนาเป็น “ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ” เพื่อให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลการเดินทางของรถโดยสารสาธารณะ 

ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สนข. มีบริการเผยแพร่ข้อมูลระบบขนส่งสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน “นำทาง” (NAMTANG) เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนและตัดสินใจ เลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

สำหรับแอปพลิเคชัน “นำทาง” (NAMTANG) รองรับการใช้งานได้หลากหลาย ทั้งระบบปฏิบัติการ Windows, IOS และ Android ซึ่งได้รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลของระบบขนส่งสาธารณะทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำ ที่เป็นการบูรณาการข้อมูลจากภาครัฐและพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง มีความครบถ้วน น่าเชื่อถือ และเป็นปัจจุบัน สำหรับเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชน อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถใช้งานได้อย่างเท่าเทียม และทั่วถึงสำหรับคนทุกคนอย่างแท้จริง 

“การ MOU ร่วมกันของทั้ง 3 หน่วยงานในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการด้านข้อมูล รวมถึงขับเคลื่อนงานด้านบริการ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

ให้สามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงกันเป็นโครงข่าย มีความครบถ้วน และเป็นการยกระดับช่วยการพัฒนาระบบการขนส่งและจราจรของประเทศให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป” นายปัญญากล่าว

ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวว่า กทม. เป็นผู้รับผิดชอบป้ายรถโดยสารประจำทางประมาณ 5,000 ป้าย และศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางประมาณ 2,098 หลัง โดยได้นำเทคโนโลยีการแจ้งข้อมูลอัจฉริยะมาติดตั้งบริเวณศาลาที่พักผู้โดยสาร เริ่มแรกจำนวน 350 หลัง ซึ่งได้ผลตอบรับดีมากแต่ยังมีจำนวนน้อย ไม่ครอบคลุม และข้อมูลสายรถเมล์ยังมีข้อจำกัด

วันนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือในการพัฒนาเข้าถึงและนำส่งข้อมูลรถโดยสารประจำทางกับ สนข. ที่พัฒนาแอปพลิเคชัน “นำทาง” ซึ่งเป็นของภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือกับ ไทย สมายล์ บัส ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ และเจ้าของระบบฐานข้อมูล GPS ในรถโดยสารประจำทาง

รองผู้ว่า กทม.เชื่อมั่นว่าข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลการเดินรถในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และในอนาคต กทม. มีโครงการติดตั้งป้ายรถโดยสารอัจฉริยะที่มีจอแสดงข้อมูล การเดินทาง-สายรถ-เวลาที่รถจะมาถึง จำนวน 500 จุด รวมถึงจอแสดงข้อมูลบริเวณศาลาที่พักผู้โดยสารอีกกว่า 200 จุด ซึ่งใช้ระบบข้อมูลจากแอปฯ “นำทาง” จึงมั่นใจได้ว่าการร่วมมือกันครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความสะดวก เป็นแรงจูงใจในการหันมาเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะกันมากขึ้น เพื่อร่วมกันลดการปล่อยมลพิษ ลดปัญหาจราจรแออัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ผู้นำธุรกิจขนส่งมวลชนพลังงานสะอาด เปิดเผยว่า ทางบริษัทยินดีอย่างมากที่จะแชร์ข้อมูล API สายรถทั้งหมดไปให้กับหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อช่วยกันยกระดับบริการขนส่งมวลชนให้เกิดเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์ ไร้รอยต่อ ให้ประชาชนค้นหาเส้นทางได้สะดวก ง่าย มีทางเลือกที่หลากหลาย ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องไม่นำไปแสวงหาผลประโยชน์เพิ่มเติมหรือเก็บค่าใช้บริการจากประชาชน

ขณะเดียวกัน ไทย สมายล์ บัส อยู่ระหว่างพัฒนาแอปพลิเคชัน TSB Go Plus คู่ขนานไปกับการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้บริการในการติดตามตำแหน่งรถ เช็กประวัติการเดินทาง รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติม สำหรับผู้ใช้ HOP Card ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่ช่วยผสานการทำงานของ TSB ร่วมกับภาครัฐ กทม. สนข. กระทรวงคมนาคม ในมุมอื่น ๆ เช่น ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ที่มีความถูกต้องของข้อมูล ระบบตั๋ว ระบบบัตรโดยสาร เพื่อให้ข้อมูลการเดินรถ สถิติการใช้งานของประชาชนที่บริษัทรวบรวมไว้ ถูกนำไปต่อยอด แก้ไขบริการ พัฒนาข้อบกพร่องที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาได้อย่างตรงจุด” ซีอีโอ ไทย สมายล์ บัส กล่าว

LATEST NEWS