เครือข่ายเพื่อพลังงานที่ยุติธรรมฯ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ “เศรษฐา” เสนอ 5 ข้อทบทวนแผน PDP2024 ขับเคลื่อนประเทศมุ่งสู่ Net Zero หยุดก่อสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิล หนุนใช้พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศให้เต็มศักยภาพ และอำนวยความสะดวกประชาชนติดตั้งไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา
วันนี้ (31 กรกฎาคม 2567)เครือข่ายเพื่อพลังงานที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน จัดงาน A Better World is Possible: ถกถามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP2024) เพื่อประชาชนและโลกที่ดีกว่าเดิม เพื่อให้ประชาชนผู้จ่ายค่าไฟฟ้าได้รับรู้ และเข้าใจต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปี 2567 และเรียกร้องให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาแก้ไขร่างแผน PDP 2024 โดยให้ความสำคัญกับข้อเสนอจากประชาชน เพื่อให้แผน PDP 2024 สร้างการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมต่อประชาชน ก่อนที่จะมีการอนุมัติในเดือนกันยายน 2567 นี้
ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปี 2567 หรือ PDP 2024 จะเป็นแผนแม่บทที่กำหนดการลงทุนระบบไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศ ที่ได้มาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประชากร กิจกรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การวางแผนล่วงหน้าในระยะเวลา 15-20 ปี ทั้งหมดนี้จะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในการลงทุนทางด้านพลังงาน และค่าใช้จ่ายเหล่านั้นก็จะถูกส่งต่อมายังบิลค่าไฟฟ้าของประชาชน
โดยเครือข่ายเพื่อพลังงานที่ยุติธรรมฯ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกและข้อเสนอถึงรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนกระบวนการและร่างแผน PDP2024 ที่ไม่มั่นคง มีราคาแพง และไม่นำประเทศสู่การบรรลุเป้าหมาย Net zero” พร้อมระบุว่าทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)ได้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580โดยไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาฉบับเต็มเกี่ยวกับร่าง PDP 2024 ให้แก่สาธารณชนรับรู้ ก่อนวันรับฟังความคิดเห็น เปิดเผยเพียงเอกสารการนำเสนอ อีกทั้งกระบวนการรับฟังใช้เวลาเพียง 12 วัน และจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนเพียงช่องทางออนไลน์ ซึ่งไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ถูกบัญญัติรับรองไว้ทั้งในกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ เครือข่ายเพื่อพลังงานที่ยุติธรรมฯ ได้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับร่างแผน PDP 2024 จากกระบวนการรับฟังความเห็นที่ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ถูกบัญญัติรับรองไว้ทั้งในกฎหมายและรัฐธรรมนูญ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนร่างแผน PDP ฉบับนี้ และเปิดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นที่รอบด้านอย่างแท้จริงทั้งในมุมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนในพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อให้ได้ร่างแผน PDPที่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกให้ประเทศไทยต้องยืนหยัดในเส้นทางสู่ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ยอมให้อนาคตประเทศและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปเพราะร่างแผน PDP ที่ผิดพลาดมาตลอดกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา
จากกระบวนการที่ปิดกั้นนำมาสู่ปัญหาไม่มั่นคง แพงและไม่นำประเทศสู่การบรรลุเป้าหมาย Net zero” ที่จะส่งผลกระทบต่อภาระของประชาชนและอนาคตของประเทศ จึงนำมาสู่ 5 ข้อเสนอต่อการแก้ไขร่าง PDP 2024 ดังนี้
1.ให้คำนึงถึงแผนการลดคาร์บอนในภาคพลังงานเป็นเป้าหมายในการออกแบบ เพื่อให้บรรลุ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ Net Zero Emission ภายในปี 2065 เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนเป็นองค์ประกอบสำคัญของการลดคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศ
2. ใช้พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศให้เต็มศักยภาพเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากการนำเข้ารักษาความมั่นคงทางพลังงาน พึ่งพาตนเอง และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
3. เพิ่มความยืดหยุ่นในระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการขึ้นของพลังงานหมุนเวียน ท้ังการทําสัญญาซื้อขายและการนําเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานและการบริหารจัดการแบบกระจายศูนย์มาใช้ เช่นการมีระบบกักเก็บพลังงานแบบสูบกลับติดตั้งครบทุกเขื่อนที่มีศักยภาพ
4. เลิกใช้ถ่านหิน ภายในปี พ.ศ. 2570 เนื่องจากสร้างภาระทางสิ่งแวดล้อมสูงกว่าพลังงานชนิดอื่น หยุดสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลใหม่เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมปัญหาค่าความพร้อมจ่ายที่เป็นภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าดังเช่นที่ผ่านมาในอดีต และระงับการสร้างท่าเรือ LNG แห่งที่ 3 ที่ไม่มีความจำเป็นและจะผูกพันเป็นภาระค่าไฟในอนาคต
5.เตรียมความพร้อมสำหรับการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเปิดโอกาสให้บุคคลที่สามสามารถขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Third Party Access: TPA) ได้อย่างเต็มที่
รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของร่างแผน PDP 2024 ฉบับนี้คือ กระบวนการยอมรับจากภาคประชาชน เพราะทุกครั้งที่มองย้อนกลับไปที่ปัญหาของค่าไฟฟ้าแพง ล้วนมีสาเหตุมาจากการวางแผน PDP ที่ผิดพลาดทั้งสิ้นได้แก่ การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริง เพราะไม่ได้ประเมินรวมสัดส่วนของผู้ที่ผลิตพลังงานใช้เองที่เพิ่มมากขึ้น เลือกวิธีการสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลที่กำลังเป็นของล้าสมัย และทำให้เกิดวิกฤตโลกเดือดเพิ่มขึ้น และเป็นการบดบังความสามารถในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน หากเราพัฒนาพลังงานหมุนเวียนได้เร็วขึ้น โรงไฟฟ้าฟอสซิลก็จะถูกใช้น้อยลง เชื้อเพลิงฟอสซิลก็จะไม่คุ้มค่า ทำให้เกิดค่าไฟฟ้าแพงมากขึ้นเลยปิดกั้นการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ในขณะฟอสซิลที่มีอยู่ปัจจุบันก็ล้นระบบอยู่แล้ว
ในแผน PDP 2024 นี้ไม่ได้มีเป้าหมายโซลาร์รูฟท้อป (solar rooftop) จริง ๆ แล้วมันเป็นวิธีการพึ่งพาตนเองในการผลิตพลังงาน การผลิตไฟที่ไหนก็ใช้ที่นั้น อีกทั้งไม่ต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศที่แพงและราคาไม่แน่นอน ดังนั้น ถ้ารัฐมองหาความมั่นคงด้านพลังงานต้องหันมาส่งเสริมให้เกิด Solar Rooftop ในแผน PDP นี้ด้วย
นายรพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ เครือข่ายการเงินเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวน (CFNT) กล่าวว่า ร่างแผน PDP2024 กำลังพาไทยไปเจอปัญหาด้านเศรษฐกิจ 3 ประการ อย่างแรกคือ ต้นทุนที่ผันผวนจากสัดส่วนการพึ่งพาการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้น อย่างที่สองคือ ต้นทุนที่แพงจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่อาจเผชิญกับการเรียกเก็บภาษีคาร์บอน และค่าการนำเทคโนโลยีมาดักจับหรือกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ซึ่งทำให้เกิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าตามมา อย่างที่สามคือ เขียวไม่พอ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ของไทยล่าช้าที่สุดในอาเซียน ความล่าช้านี้กำลังทำให้เราเสียเปรียบในการแข่งขันเพราะนอกจากจะไม่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทที่ให้ความสำคัญด้านการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ภาคส่งออกของเรายังเผชิญกับกำแพงภาษีจากมาตรการคาร์บอนข้ามพรมแดนซึ่งเริ่มบังคับใช้แล้วในสหภาพยุโรป ส่วนแคนาดา ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกาก็กำลังพิจารณาเดินหน้ากฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ทางออกที่เป็นไปได้ในปัจจุบันคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปลี่ยนผ่านการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฟอสซิลสู่พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังปล่อยคาร์บอนต่ำ และประเทศไทยยังโชคดีที่มีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมหาศาลอีกด้วย”
ด้านนายธารา บัวคำศรี กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า แม้ประเทศไทยประกาศเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2608 แต่ร่างแผน PDP 2024 ยังไม่หลุดพ้นไปจากการครอบงำของผลประโยชน์อุตสาหกรรมฟอสซิล ซ้ำร้าย ยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด มีเพียงระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเต็มร้อยเท่านั้นหากประเทศไทยต้องการไปถึงความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero ตามที่ประกาศไว้