Saturday, 23 November 2024 - 1:53 am
spot_img
Saturday, 23 November 2024 - 01:53
spot_img

“อนุสรณ์” ชี้ไทยต้องทำ AI Transformation ควบคู่ Digital Transformation ยกระดับผลิตภาพ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

“อนุสรณ์” ชี้ไทยต้องทำ AI Transformation ควบคู่ Digital Transformation ยกระดับผลิตภาพ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เผยดัชนีความพร้อมด้าน AI ในปี 2566 ไทยร่วงลงมาอยู่ในลำดับที่ 37 ห่วงผลิตภาพแข่งขันไม่ได้ในยุคเอไอ  

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอได้มีการพัฒนาก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว การขับเคลื่อนของเทคโนโลยี Generative AI หรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถทำงานสร้างสรรค์ได้ทำให้ผลิตภาพในการทำงานสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งพร้อมกับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆจำนวนมาก ขณะเดียวกัน  การแข่งขันกันนำเสนอการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Generative AI ในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ของบริษัทไฮเทคจะพลิกผัน หรือ Disrupt ธุรกิจอุตสาหกรรมเดิมพลิกโฉมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป บางกิจการจะถดถอยไปและหายไป บางกิจการจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดพร้อมผลิตภาพและกำไรสูงขึ้น เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งเป็นแหล่งรวมงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ หากควอนตัมคอมพิวติ้ง (Quantum Computing) สามารถนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้จะทำให้การประมวลผลรวดเร็วและมีประสิทธิภาพขึ้นไปอีก เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนอีกมากมายในอัตราเร่ง  หุ่นยนต์ที่มีการเรียนรู้อัตโนมัติด้วยการเลียนแบบการทำงานโครงข่ายประสาทของมนุษย์ (Neurons) และ สมองกลอัจฉริยะปัญญาประดิษฐ์ อาจสร้างปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ การผลิตและการจ้างงาน หรือแม้นกระทั่ง อารยธรรมหรือวัฒนธรรมของไทยได้หากไม่มีวางยุทธศาสตร์และกำกับควบคุมให้เหมาะสม ขณะที่การกำกับมากเกินไปก็ไปลดทอนพลังแห่งความก้าวหน้าสร้างสรรค์ได้ หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์และ Gen AI เหล่านี้จะสร้างประโยชน์อย่างมากต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจและสังคมไทย สามารถเพิ่มผลิตภาพอย่างก้าวกระโดด รวมทั้ง การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและธุรกิจ เมื่อองค์กรต่างๆ ในไทยมีการดำเนินการให้เกิด AI Transformation ควบคู่ Digital Transformation อย่างเป็นระบบ

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การลงทุนและการเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านเพื่อใช้ AI ในองค์กรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำโดยเฉลี่ย อันดับดัชนีความพร้อมด้าน AI ของไทยก็มีความผันผวนสูง จากการจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้าน AI ของรัฐบาล (AI Government Readiness Index) ประเทศไทยเลื่อนอันดับขึ้นจาก 59 เป็น 31 ทันทีที่ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการ AI ในปี พ.ศ. 2565 และ ดัชนีความพร้อมด้าน AI ล่าสุดปี พ.ศ. 2566  ไทยร่วงลงมาอยู่ในลำดับที่ 37  ปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีดังกล่าวของไทยต่ำลง เพราะไม่สามารถนำเทคโนโลยีไปพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าและผลิตภาพได้ ขาด ทุนมนุษย์ที่มีทักษะทางด้านปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ นโยบาย ระบบและกลไกในการสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อขยายขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมยังมีข้อจำกัด หากไม่แก้ไขข้อจำกัดหรือปัญหาเหล่านี้จะทำให้ผลิตภาพโดยรวมของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ในยุคเอไอ

แม้นแผนปฏิบัติการ AI ของไทยได้จัดทำโครงการที่สอดรับกับจุดเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี AI ทั้ง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ในระดับองค์กรยังขาดการวางแผนในการทำให้เกิด AI Transformation และ วางเป้าหมายในการนำ AI มาใช้ในกระบวนการทำงาน กระบวนการผลิต และ กระบวนการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและธุรกิจใหม่ การดำเนินการเช่นนั้นได้ต้องมีการจัดตั้งทีม AI และ มีการฝึกอบรมพัฒนาทักษะ

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า คาดว่าภายใน ปี ค.ศ. 2030 ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกจะเพิ่มเป็นมากกว่า 8 พันล้านราย คิดเป็น 90% ของประชากรโลก ในปัจจุบันนี้มีประชาชนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้เพียง 5 พันล้านราย ทำให้ช่องว่างดิจิทัลยังมีอยู่มาก และ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงดิจิทัลนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ในไทย เมื่อมีช่องว่างดิจิทัลมาก ย่อมมีช่องว่างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มากไปด้วย

อุปสรรคสำคัญ คือ การเข้าถึงได้ในราคาถูกและง่ายต่อการใช้งาน ช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงดิจิทัลและเอไอจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในระบบทุนนิยมโลกและทุนนิยมไทยเพิ่มขึ้น  เมื่อโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้ถูกพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้การผลิตด้วยระบบอัตโนมัติและการทำงานจากการควบคุมทางไกล ส่งผลระบบการบริหารงานคลังสินค้าครบวงจรระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อเกิดขึ้นแบบไร้รอยต่อ ทำให้ระบบซัพพลายเชนแบบเดิมล้าหลังไปทันที ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมนั้นสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลได้เหมือนกันแต่ระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอาจแตกต่างกัน อุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมและสื่อสารมวลชน อุตสาหกรรมบันเทิง กลุ่มนี้จะเปิดรับในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วกว่าอุตสาหกรรมการศึกษา อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมก่อสร้าง รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์  ผู้นำตลาดดั้งเดิมมักไม่เร่งรีบนำเทคโนโลยีดิจิทัลและเอไอมาใช้จากการที่ได้ลงทุนไปในเทคโนโลยีแบบเดิมไปมากและยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มากพอ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นตัวถ่วงรั้งหรือแรงฝืดต่อการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ ส่วนผู้แข่งขันรายใหม่ที่ยังไม่ได้มีการลงทุนทางกายภาพเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีแบบเดิมก็มักจะเร่งรัดในการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ แรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัลหรือการใช้เอไอ คือ แรงผลักดันที่มาจากลูกค้าและสังคม ย่อมเกิดความเสี่ยงหรือความวิตกกังวลและโอกาสเกิดขึ้นเมื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ  

รศ. ดร. อนุสรณ์ ได้วิเคราะห์ถึง ความเสี่ยงและความวิตกกังวลเรื่องแรงงานมนุษย์จะถูกแย่งงานจากระบบอัตโนมัติอัจฉริยะ หุ่นยนต์ สมองกลอัจฉริยะต้องมีการบริหารจัดการให้ดี แน่นอนว่า ขณะนี้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ส่งผลต่อโครงสร้างของตลาดแรงงานแล้ว และ จะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ กิจการจำนวนมากเริ่มนำเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิต อย่างเช่น หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะ และ อาจส่งผลให้เลิกจ้างงานพนักงานจำนวนมากโดยเฉพาะงานผลิตซ้ำต่างๆ ที่มูลค่าต่ำ แต่ก็ไม่ใช่ทุกตำแหน่งจะเผชิญกับความเสี่ยง ด้วยเทคโนโลยีเดิมก่อนการเกิดขึ้นของ Generative AI งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ยังไม่สามารถนำระบบอัตโนมัติหรือ AI มาใช้แทนได้มากนัก แต่ในอนาคตจะทดแทนได้มากขึ้น ความเสี่ยงเรื่องนี้จะกระทบต่อประเทศไทยไม่มากเนื่องจาก ไทยจะมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานและเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การใช้หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์อย่างเหมาะสมกลับจะทำให้เศรษฐกิจสามารถก้าวพ้นขีดจำกัดปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ ปัญหาโครงสร้างประชากรสูงวัยและสัดส่วนแรงงานลดลงอย่างชัดเจนจะส่งผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยงานวิจัยของ Bloom and Finlay (2009) ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงจากการลดลงของประชากรในวัยทำงาน แรงงานในวัยทำงานจะลดลงในอัตราร้อยละ 0.05% ต่อปี และจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงในอัตราร้อยละ 0.45 ต่อปี หากเราสามารถใช้เอไอ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาเสริมการทำงานของแรงงานมนุษย์จะทำให้ผลิตภาพของแรงงานสูงขึ้น และ สามารถชดเชยแรงงานมนุษย์ที่หายไป ไม่ทำให้อัตราการขยายทางเศรษฐกิจลดต่ำ ส่วน แรงงานบางกลุ่มที่ไม่มีทักษะมากพอในการทำงานในระบบการผลิตแบบใหม่ ภาครัฐต้องทำการ Upskill และ Reskill อย่างมียุทธศาสตร์และเป็นระบบ นอกเหนือจากการดำเนินการผ่านระบบการศึกษาที่เป็นทางการ  

รศ. ดร. อนุสรณ์ เปิดเผยอีกว่า การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจสู่ดิจิทัลและเอไอ มีหลักฐานในเชิงประจักษ์ในหลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาว่า ทำให้เกิดการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลของบุคคลจำนวนหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์จากสภาวะดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สร้างแพลตฟอร์มและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำธุรกรรม การดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ การลงทุนต่างๆโดยไม่ถูกจำกัดโดยพรมแดนของรัฐชาติ ไม่ถูกจำกัดโดยข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และสามารถเสนอบริการหรือผลิตสินค้าข้ามกิจการอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ทำให้เกิดโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ บริษัทไฮเทคและธุรกิจแพลตฟอร์มของทุนตะวันตกหรือทุนจีนได้เข้ามาแย่งชิงผลประโยชน์จากธุรกิจอุตสาหกรรมในท้องถิ่น และ มีผลกระทบต่อเอสเอ็มอีอย่างมาก จึงต้องมีการจัดระเบียบการแข่งขันเสียใหม่ให้เป็นธรรม การปิดกั้นด้วยมาตรการกีดกันทางการค้า (Trade Protectionism) อาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีในการรับมือความท้าทายดังกล่าว   เทคโนโลยีใหม่ทำให้เกิดข้อมูลมหาศาล การเก็บข้อมูล ความสามารถในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ได้ดีขึ้น

คาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2576 เมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด (Super-Aged Society) จะต้องใช้งบสวัสดิการสำหรับผู้ชราภาพสูงทะลุ 1 ล้านล้านบาท ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญ และมีความจำเป็นต้องลดภาระทางการคลังด้วยการดำเนินการในนโยบาย 3 ด้านดังต่อไปนี้ คือ พัฒนาระบบการออมเพื่อชราภาพให้ขยายขอบเขตและเข้มแข็งขึ้น การปฏิรูประบบแรงงาน และ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ควรมีการศึกษานโยบายการเปิดเสรีแรงงานและควรพิจารณาการรับผู้อพยพผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีคุณภาพหรือไม่ อย่างไร

รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ตนเสนอให้มีการปฏิรูประบบแรงงานรับมือสมองกลอัจฉริยะ หรือ AI และเพิ่มความเป็นธรรมและความสามารถแข่งขัน  ท่ามกลางพลวัตความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล  นายจ้างกับลูกจ้างสามารถตกลงวันและเวลาในการทำงานจากที่บ้านหรือ “Work from home” ได้มากขึ้น สามารถทำงานผ่านระบบเทคโนโลยีจากที่ไหนก็ได้ และแม้ว่าจะไม่ได้เข้าทำงานที่ออฟฟิศ ลูกจ้างก็ต้องได้รับเวลาพัก รวมถึงค่าจ้างในการทำงานล่วงเวลาหรือ “โอที” ตามปกติ และที่สำคัญ เมื่อสิ้นสุดเวลาทำงานในแต่ละวันแล้ว ลูกจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธการติดต่อคุยงาน ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์สื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โปรแกรมแชตหรือโทรศัพท์ก็ตาม โดย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขล่าสุดได้ปรับปรุงให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์การทำงานในโลกยุคดิจิทัลมากขึ้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ จักรกลอัตโนมัติจะทำให้อาชีพและตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปแบบพลิกโฉม จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาเรียนรู้ ระบบพัฒนาทักษะ และ ระบบแรงงานทั้งระบบเพื่อให้ แรงงานมนุษย์สามารถทำงานร่วมกับ AI และ ระบบหุ่นยนต์ได้ดีขึ้น และ หลายอย่างสมองกลอัจฉริยะหรือ AI สามารถทำงานได้ดีกว่าแรงงานมนุษย์และเสริมการทำงานของมนุษย์ เช่น การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ซึ่งเป็นงานเฉพาะและมีความแม่นยำสูงกว่าที่มนุษย์จะทำได้ และ สามารถช่วยการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้นได้ ระบบ Software คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการคำนวณประกอบกับการใช้ Big Data และ Machine Learning สามารถทำงานทางด้านการวิเคราะห์ การคำนวณ การประเมินการลงทุน การศึกษา การวิจัย ได้อย่างดี เป็นต้น

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวต่อว่าไทยอาศัยการลงทุนและเทคโนโลยีจากบรรษัทข้ามชาติ แต่องค์ความรู้ในการพัฒนาเทคโนโลยีไม่ได้ส่งผ่านมายังผู้ผลิตไทยมากนักตลอดช่วงเวลาสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมา เราจึงเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสินค้าขั้นกลางที่มีความซับซ้อนของเทคโนโลยีไม่มาก ในอุตสาหกรรมยานยนต์หรืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ เราก็ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนสูงจากต่างประเทศมาประกอบในไทย นอกจากนี้ เรายังมีการใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและวิจัยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศรายได้ระดับปานกลางด้วยกัน สัดส่วนการใช้จ่ายทางด้านวิจัยและพัฒนา R&D เทียบกับจีดีพต่ำกว่า 1% มาโดยตลอด ควรจะมีการเพิ่มงบประมาณทางด้านวิจัยและพัฒนาขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.5-2% ของจีดีพี ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาก็ยังอยู่ระดับต่ำกว่า มาเลเซียและสิงคโปร์ ควรมีการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นพร้อมสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างชาติสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจและถ่ายทอดนวัตกรรม พัฒนาและออกแบบเทคโนโลยีในประเทศไทยมากขึ้น ไทยยังมีทุนสนับสนุนงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่ำและกระจัดกระจาย ไม่มียุทธศาสตร์ในการจัดสรรทุน ความร่วมมือระหว่าง สถาบันการศึกษา และ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนานวัตกรรมยังมีอยู่อย่างจำกัด แรงงานมีความรู้ ทักษะไม่พอเพียงและไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้ ปัญหาเหล่านี้ต้องมีแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วนเพื่อไม่ให้ “ไทย” ตกยุคเอไอเปลี่ยนแปลงโลก  

LATEST NEWS