กทพ. ลงนามจ้างอิตาเลียนไทยฯ ก่อสร้างทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ระยะทาง 16.21 กม. มูลค่ากว่า 1.86 หมื่นล้านบาท เตรียมเข้าพื้นที่ก่อสร้างปลายปีนี้ คาดสร้างเสร็จพร้อมเปิดใช้งานปลายปี 2570 เร็วกว่าแผนถึง 6 เดือน โดยจะเก็บค่าผ่านทางในอัตราเริ่มต้น 20 บาท
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดพิธีลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) กับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. และ นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส ITD ร่วมลงนามในสัญญา โดยมีผู้บริหารระดับสูง รวมถึงพนักงาน จากทั้ง 2 หน่วยงานร่วมพิธี ฯ ณ ห้องประชุม 2801 ชั้น 28 อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ กทพ. เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ได้มีมติอนุมัติ ให้ กทพ. ดำเนินโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กิโลเมตร (กม.) เพื่อรองรับการให้บริการด้านการจราจรและขนส่ง ให้สอดคล้องกับการพัฒนาและการเจริญเติบโตของพื้นที่ตัวเมือง ที่มีแนวโน้มพัฒนาไปทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครอย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย ในการพัฒนาโครงสร้างด้านคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และสามารถรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งสอดคล้องกับยุทะศาสตร์ชาติและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570
ทั้งนี้ โครงการนี้เป็นโครงการเรือธงของกระทรวงคมนาคม ที่ ใช้งบประมาณก่อสร้าง โดยมีวงเงินลงทุนในส่วนของงานโยธาประมาณ 1.86 หมื่นล้านบาท และ กทพ. สามารถประมูลลงนามสัญญาได้ตามแผน ซึ่งคาดว่าจะออกหนังสืออนุญาตให้ผู้รับจ้างก่อสร้างเข้าพื้นที่ (NTP) ได้ไม่เกินปลายปีนี้ เช่นเดียวกับขั้นตอนการเวนคืนที่ดินที่จะเริ่มได้ภายในปลายปีนี้ ซึ่ง กทพ. มีความพร้อมและมีประสบการณ์ จึงมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา ส่วนที่ดินที่เป็นของส่วนราชการ จะมีที่บริเวณถนนกาญจนาภิเษก ก็จะเจรจากับกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อขอใช้พื้นที่รวมถึงวางแผนจัดการจราจรระหว่างก่อสร้างให้เหมาะสม อย่างไรก็ดีมั่นใจว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ปลายปี 2570 ซึ่งเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ 6 เดือน และเมื่อเปิดใช้งานจะเก็บค่าผ่านทางในอัตราเริ่มต้น 20 บาท สูงสุด 45 บาท โดยคาดว่าจะมีปริมาณการจราจรประมาณ 40,000 คัน/วัน
ด้าน นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโสกับ บมจ.อิตาเลียนไทย กล่าวว่า โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) เป็นหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญมาก ในการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง โดยจะสร้างเป็นทางพิเศษ ยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร โครงสร้างเป็นรูปแบบ Slab on Girder ส่วนโครงสร้างเสาเป็นเสาเดี่ยว ก่อสร้างบนระบบฐานรากที่เป็นเสาเข็มเจาะขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัท มีความพร้อมด้านบุคลากร ทั้งวิศวกร และทีมงานที่มีประสบการณ์และความชำนาญสูง และมีการจัดหาเครื่องจักรทันสมัยที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างอีกทั้ง ยังมี โรงงานผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตที่มีคุณภาพสูงสำหรับใช้งานก่อสร้างด้วย
“จากประสบการณ์ในการก่อสร้างโครงการต่างๆ รวมถึงความชำนาญในการใช้เทคโนโลยี เช่น โครงการทางด่วนพระราม3- ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ สัญญา 3 ซึ่งเป็นงานที่ยากแต่การทำงานเป็นไปด้วยดี ดังนั้นขอให้มั่นใจว่า บริษัทจะทำโครงการทางด่วนช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา โดยยึดมั่นในมาตรฐานการทำงานให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพดี และมีความปลอดภัยสูงสุด และจะมุ่งมั่นปฏิบัติงานนี้อย่างเต็มที่เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนด”
สำหรับรายละเอียดของโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) จะเป็นการก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ระยะทางรวมทางขึ้นลง 16.21 กิโลเมตร โดยจุดเริ่มต้นทางหลักของโครงการฯ เชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) ที่ กม. 0+000 จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัดผ่านถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ เลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีจุดสิ้นสุดทางหลักของโครงการ บริเวณ กม.14+000 และมีระยะทางเชื่อมทางขึ้น-ลงไปสู่ถนนลำลูกกา (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3312) ประมาณ 2.21 กิโลเมตร
โครงการนี้ มีทางแยกต่างระดับ 1 แห่ง และทางขึ้น-ลง 3 แห่ง ได้แก่
1.ทางแยกต่างระดับจตุโชติ บริเวณ กม.1+900
2.ทางขึ้น-ลงจตุโชติ 1 และหทัยราษฎร์ 1 บริเวณ กม.4+000
3.ทางขึ้น-ลงหทัยราษฎร์ 2 บริเวณ กม.6+200
4.ทางขึ้น-ลง ถนนลำลูกกา บริเวณ กม.14+000
โดยมีด่านเก็บค่าผ่านทาง 3 ด่าน ได้แก่ ด้านจตุโชติ ด่านหทัยราษฎร์ และด่านลำลูกกา
สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการ สืบเนื่องจากปัจจุบัน การเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปยังอำเภอธัญบุรี หรืออำเภอองค์รักษ์ จังหวัดนครนายก จะใช้ถนนรังสิต-นครนายก และถนนพหลโยธินเป็นเส้นทางหลัก ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณการจราจรหนาแน่น เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่สามารถเดินทางสู่ภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ตลอดแนวเส้นทาง นอกจากนี้ เส้นทางดังกล่าวยังมีปริมาณรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้สัญจรเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดและช่วงเทศกาลจะเกิดปัญหาการจราจรติดขัดตลอดแนวเส้นทาง
ดังนั้น การทางพิเศษฯ จึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครนายก โดยการต่อขยายโครงข่ายทางพิเศษฉลองรัชไปยังถนนลำลูกกา เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นการเพิ่มโครงข่ายถนนเพื่อแบ่งเบาปริมาณจราจรบนถนนปัจจุบัน อีกทั้งช่วยในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครนายกอีกด้วย