“กระทรวงพลังงาน” พาตะลุยพื้นที่จังหวัดชุมพร โชว์ผลงานการสนับสนุนนชุมชนใช้พลังงานทดแทน ติดตั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์เตามณฑล 1 กระทะ และเตานึ่งก้อนเชื้อเห็ดและตู้อบ ให้วิสาหกิจชุมชนฟาร์มเห็ดปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพ ช่วยลดใช้พลังงานได้ 2.520 Ktoe/ปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO₂) 16,924.64 กิโลกรัมต่อปี สร้างรายได้ให้กับเกษตรกว่า 1 แสนบาท/ปี ขณะที่ “วัดคีรีวงก์” ศูนย์เรียนรู้การผลิตสมุนไพรไทยชี้ประโยชน์จากการใช้พลังงานทดแทนช่วยลดค่าใช้จ่ายจากเดิม 4 หมื่นบาท/เดือน เหลือเพียง 50%
กระทรวงพลังงาน นำโดยนายโกมล บัวเกตุ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายโสภณ มณีโชติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการส่งเสริมพลังงานทดแทนในระบบเศรษฐกิจฐานราก องค์การบริหารส่วนตำบลครน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นอีกโครงการที่ประสบปัญหาต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เตานึ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง รวมถึงสถานที่ตากข้าวเกรียบที่ไม่ได้มาตรฐาน กระทรวงพลังงานจึงได้สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานในโครงการดังกล่าว ผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงานแบบครบวงจร
โดยนายโกมล เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ตรวจดูผลงานวิสาหกิจชุมชนฟาร์มเห็ดปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพ ตำบลครน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ซึ่งทางกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้สนับสนุนการติดตั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์เตามณฑล 1 กระทะ และเตานึ่งก้อนเชื้อเห็ดและตู้อบ เป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสนับสนุนเตาชีวมวลประสิทธิภาพสูง ได้แก่ เตามณฑล 1 กระทะ จำนวน 2 ระบบ เตานึ่งก้อนเชื้อเห็ดและตู้อบ จำนวน 2 ระบบ ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 2×2 เมตร จำนวน 4 ระบบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดใช้พลังงานได้ 2.520 Ktoe/ปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO₂) 16,924.64 กิโลกรัมต่อปี และเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเป้าหมายอย่างน้อย 100,000 บาท/ปี
“กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อให้เกษตรกรมีการใช้พลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลครน ได้รับการสนับสนุนผ่านกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และในปี 2568 อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนฯ ที่จะเปิดให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศได้ยื่นของบสนับสนุนพลังงานทดแทน โดยเกษตรกรจากวิสาหกิจชุมชนที่สนใจสามารถติดตามผ่านทางพลังงานทุกจังหวัดทั่วประเทศ”
สำหรับพื้นที่ตำบลครน อ.สวี จ.ชุมพร เกษตรกรในพื้นที่ร้อยละ 90 ประกอบอาชีพปลูกพืชไร่ พืชสวน มีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก และมีพืชผลบางชนิดราคาตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรมีหนี้สิน ทำให้มีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฟาร์มเห็ดปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพ เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตร โดยเน้นการผลิตที่มีคุณภาพ ถูกสุขลักษณะ มีการแปรรูปเห็ดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้หลากหลาย เช่น ข้าวเกรียบ เห็ดสวรรค์ และผงเห็ด 5 สี เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
อย่างไรก็ตามการส่งเสริมให้ชุมชนได้ใช้พลังงานทดแทน เป็นอีกแนวทางที่กระทรวงพลังงาน ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงานสร้างโอกาสในการแข่งขันเพิ่มรายได้ สร้างงาน ยกระดับการเรียนรู้ด้านพลังงานให้กับประชาชนในชุมชน และการมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้เข้าเยี่ยมชม “ศูนย์เรียนรู้สมุนไพรไทย”แห่ง วัดน้ำตก หรือ วัดคีรีวงก์ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นทั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ป่วยโรคมะเร็ง เบาหวาน และคลังความรู้สมุนไพรไทย หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นโรงพยาบาลสำหรับคนทุกระดับชั้น โดยมีพระมหาขวัญชัย อัคคชโย เจ้าอาวาสวัดคีรีวงก์ เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ศูนย์ฯ มีเครือข่ายในการปลูกสมุนไพร เงินที่ได้จากการทำบุญของชาวบ้านจะนำไปซื้อสมุนไพรของชาวบ้านที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ก่อนหน้าที่จะมีการใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์และบ่อบาดาล ต้องจ่ายค่าไฟแต่ละเดือน 38,000-40,000 บาท เพราะต้องใช้ในการบดยาและอบยา การเข้ามาสนับสนุนของสำนักงานพลังงานจังหวัด จึงเป็นเรื่องที่มีคุณประโยชน์อย่างมาก
โดยพระมหาขวัญชัย อัคคชโย เจ้าอาวาสคีรีวงก์ กล่าวว่า วัดคีรีวงก์ได้ประโยชน์จากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อตากและอบสมุนไพร รวมถึงช่วยในการแปรรูปจากสมุนไพรต่างๆ จากวัตถุดิบสดให้เป็นแห้ง และจากแห้งให้เป็นผง ส่วนระบบเตามณฑลได้นำไปใช้ในการแปรรูปจากสมุนไพรให้เป็นเนื้อ และจากเนื้อให้เป็นผงแห้ง สามารถลดค่าใช้จ่ายจากเดิมเกือบ 4 หมื่นบาท/เดือน เหลือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ทำให้เห็นความสำคัญในการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการแปรรูปยารักษาโรคในชุมชน ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดภาวะโลกร้อน และเป็นมิตรกับชุมชนด้วย
ด้านนายเกรียงไกร บัวมี พลังงานจังหวัดชุมพร กล่าวเสริมว่า สำนักงานพลังงานจังหวัดชุมพร โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ส่งเสริมให้ทุกกระบวนการของการผลิต มีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ สนับสนุนการใช้ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ลดค่าใช้จ่ายของการสูบน้ำ ส่วนการตากสมุนไพรก็ใช้โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ในการตากและควบคุมคุณภาพสมุนไพรควบคู่กัน ส่วนในการปรุงยา ได้สนับสนุนระบบเตามณฑล 2 กระทะ ซึ่งหลังจากใช้พลังงานทดแทนแล้ว วัดสามารถลดจ่ายค่าไฟจากเดิม 3-4 หมื่นบาท/เดือน เหลือจ่ายเพียงเดือนละ 1.5–2 หมื่นบาท ซึ่งนอกจากลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสามารถผลิตยาที่มีคุณภาพ มีระยะเวลาการผลิตที่รวดเร็วขึ้น ส่งผลต่อการให้บริการประชาชนได้มากขึ้นด้วย