2 ผลงานเด่นของ กฟผ. กวาด 4 รางวัลใหญ่ในเวที “The International Trade Fair, Ideas, Inventions and New Products” (iENA 2024) ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จากผลงานอุปกรณ์ระบุตำแหน่งจุดขัดข้องบนสายส่งไฟฟ้าที่สามารถต่อเข้ากับสายส่งไฟฟ้าผ่าน Capacitive Voltage Transformer (CVT) โดยสายส่งไม่จำเป็นต้องมี Line Trap และ ผลงานชุดทดสอบลูกถ้วยแขวนในระบบจำหน่ายและระบบส่งไฟฟ้า
นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในเวที “The International Trade Fair, Ideas, Inventions and New Products” (iENA 2024) ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 – 28 ตุลาคม 2567 โดยผลงานของ กฟผ. สามารถคว้า 4 รางวัล จาก 2 ผลงานเด่น คือ
ผลงาน อุปกรณ์ระบุตำแหน่งจุดขัดข้องบนสายส่งไฟฟ้าที่สามารถต่อเข้ากับสายส่งไฟฟ้าผ่าน Capacitive Voltage Transformer (CVT) โดยสายส่งไม่จำเป็นต้องมี Line Trap ได้รับ 3 รางวัล ได้แก่ 1) รางวัล Silver Medal 2) รางวัล Special Prize on Stage (Prominent Invention) จาก Taiwan Creativity Development Association (TCDA) ไต้หวัน และ 3) รางวัล Special Prize จาก Korea Invention Promotion Association (KIPA) สาธารณรัฐเกาหลี เป็นอุปกรณ์ช่วยระบุตำแหน่งของจุดขัดข้องบนสายส่ง ช่วยลดเวลาการทำงาน ทีมผู้ปฏิบัติงานสามารถเข้าแก้ไขจุดขัดข้องที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว กู้คืนระบบและส่งพลังงานไฟฟ้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบกับระบบป้องกันความเสียหายของสายส่งด้วย
ผลงาน ชุดทดสอบลูกถ้วยแขวนในระบบจำหน่ายและระบบส่งไฟฟ้า ได้รับรางวัลพิเศษ Special Award จาก Indonesian Innovation and Invention Promotion Association (INNOPA) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นนวัตกรรมชุดทดสอบลูกถ้วยแขวนที่ออกแบบให้รองรับการทดสอบได้ครอบคลุมทุกรุ่นทั้งในระบบจำหน่ายและระบบส่งไฟฟ้า รองรับการเป็นหน่วยงานที่รับทดสอบลูกถ้วยจากผู้ผลิตเอกชนภายในประเทศ สามารถนำผลการทดสอบไปขอการรับรองและจดทะเบียนผลิตภัณฑ์สินค้ากับสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อให้สามารถจำหน่ายและนำไปใช้งานได้อย่างปลอดภัยและมีคุณภาพ
สำหรับเวที iENA 2024 เป็นเวทีการประกวดและนำเสนอผลงานของนักประดิษฐ์จากทั่วโลก โดยมีผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย สถาบัน นักวิจัย และนักประดิษฐ์อิสระจากกว่า 30 ประเทศเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงผลงานกว่า 400 ผลงาน