
PEA ประกาศเอาไม่ธุรกิจสีเทาในเมียนมา เดินหน้าร่างสัญญาฉบับใหม่เข้มขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เสนออัยการสูงสุดพิจารณาก่อนชงบอร์ด PEA ไฟเขียวบังคับใช้ทันที เผยวางกฏเหล็กในสัญญาต้องระบุลูกค้าที่ซื้อไฟฟ้าจากไทยให้ชัดเจน หากกระทบต่อความมั่นคงสามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันที พร้อมเสนอเป็นเจ้าภาพ 6 ก.พ. นี้ ร่วมหารือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงชี้ขาดจ่ายไฟฟ้าให้เมียนมา

วันนี้ (29 มกราคม 2568) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) แถลงข่าวชี้แจงการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กรณีเกิดปัญหาทางผู้รับสัมปทานไฟฟ้าฝั่งเมียนมาจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับกลุ่มธุรกิจสีเทาและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สร้างความเสียหายต่อธุรกิจและคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปทางออกหลัง PEA ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคง ในวันที่ 4 หรือ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับเมียนมาคิดเป็น 0.13% ของการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย ไม่ได้เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ เพราะมีรายได้หลักอยู่กว่า 6 แสนล้านบาท พร้อมเสนออัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านฉบับใหม่แบบเข้มข้น ป้องกันการลักลอบนำไฟฟ้าไปใช้อย่างผิดกฎหมาย หากอัยการสูงสุดพิจารณาเห็นชอบแล้ว เสนอบอร์ด PEA อนุมัติมีผลบังคับใช้ได้ทันที
นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในฐานะโฆษกประจำการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดเผยว่า หลังจากมีข่าวกรณีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาจ่ายไฟฟ้าที่ซื้อจากไทยให้กับธุรกิจสีเทานั้น PEA ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการหรือกับหน่วยงานด้านความมั่นของประเทศตลอดมา และ PEA เสนอเป็นเจ้าภาพการประชุมหารือร่วมกันในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 หรือวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมา หลังจากได้มีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานด้านความมั่นคงตั้งแต่ปลายปี 2567 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวละเอียดอ่อน PEA ต้องดำเนินการอย่างรัดกุม รอบคอบ ต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนถึงจะสั่งงดจ่ายไฟฟ้าได้ ซึ่งปัจจุบันจ่ายกระแสไฟฟ้าให้สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 5 จุด ในพื้นที่ ได้แก่อ1. บ้านเจดีย์สามองค์ – เมืองพญาตองซู รัฐมอญ บริษัท Mya Pan Investment and Manufacturing Company Limited ผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาv2. บ้านเหมืองแดง – เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) ผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 3. สะพานมิตรภาพไทย-พม่า-เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 4. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า แห่งที่ 2 อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง บริษัท Nyi Naung Oo Company Limited และ Enova Grid Enterprise (Myanmar) Company Limited ผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 5. บ้านห้วยม่วง – อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง มีบริษัท Shwe Myint Thaung Yinn Industry & Manufacturing Company Limited (SMTY) ผู้ได้รับสัมปทานจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
การจ่ายไฟฟ้าในจุดซื้อขายไฟฟ้าไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา คู่สัญญาทุกจุดซื้อขายไฟฟ้าเป็นผู้ได้รับสิทธิสัมปทานการซื้อขายไฟฟ้าจากรัฐบาลของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยผ่านการรับรองความถูกต้องและความน่าเชื่อถือด้านเอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศ และ PEA ประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคงของไทยในพื้นที่ก่อนจำหน่ายไฟฟ้าไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

กรณีการงดจ่ายไฟฟ้าหรือบอกเลิกสัญญา มี 2 กรณี ได้แก่ กรณีคู่สัญญาดำเนินการผิดสัญญา เช่น ไม่ชำระค่าไฟฟ้าตามกำหนด หรือไม่วางหลักประกันสัญญา และกรณีที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยตัดไฟฟ้าด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงในประเทศมาก่อน
ดังนั้น PEA จำเป็นต้องมีหนังสือเป็นทางการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานความมั่นคง กระทรวงการต่างประเทศ ก่อนการดำเนินการบังคับใช้ข้อสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกันกับการเริ่มทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หากเป็นในเรื่องนโยบาย PEA จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

สำหรับในปี 2566 สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ขอให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยแจ้ง PEA ดำเนินการระงับการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ 2 จุดที่บ้านวังผา อ.แม่ระมาด – บ.ก๊กโก๋ อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และบ้านแม่กุใหม่ท่าซุง – อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง
ส่วนอีก 1 จุด ปี 2567 ในพื้นที่ อ.เชียงแสน – เมืองพงษ์ จ.ท่าขี้เหล็ก คู่สัญญาผิดนัดชำระค่าไฟฟ้า ทำให้ PEA ยกเลิกจุดซื้อขายไฟฟ้าทั้ง 3 จุดดังกล่าวแล้ว
“การตรวจสอบว่ามีการกระทำใดที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของประเทศไทยนั้น PEA ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบกรณีดังกล่าวในประเทศของคู่สัญญาได้ จึงต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจประสานงานในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และแจ้ง PEA เพื่อดำเนินการต่อไป”

นอกจากนี้ PEA ได้จัดทำหนังสือเป็นทางการผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังหน่วยงานของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อขอให้กำกับดูแลและควบคุมการจ่ายไฟฟ้าให้เป็นไปตามสิทธิสัมปทาน ณ จุดซื้อขายไฟฟ้า หากหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศไทยตรวจสอบและพิจารณาว่าการจ่ายไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย และแจ้งให้ PEA ดำเนินการงดจำหน่ายไฟฟ้าตามขั้นตอนต่อไป
นายประดิษฐ์ กล่าวด้วยว่า PEA จ่ายไฟฟ้าให้ให้กับเมียนมา 5 จุด คิดเป็นสัดส่วน 0.13% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศไทย มีรายได้ประมาณ 800 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 6 แสนล้านบาท จากลูกค้าจำนวน 22 ล้านราย ขอยืนยันว่า PEA ไม่ได้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากรายได้ในส่วนนี้อย่างที่กล่าวหากัน หากในอนาคตมีการงดจ่ายไฟฟ้าให้กับเมียนมาก็ไม่ส่งผลกระทบกับรายได้ของ PEA แต่อย่างใด ที่ผ่านมา PEA ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรองรับเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงชายแดนเป็นหลัก
“PEA เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่จากทั้งหมดที่มีอยู่ 52 แห่ง มีการคำนึงถึงการกำกับดูแลกิจการ (Governance) รวมถึงข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ถ้าหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศมีหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนแจ้งมาทาง PEA ว่าเมียนมามีการนำไฟฟ้าไปเอื้อกับธุรกิจสีเทากระทบต่อความมั่นคงของประเทศ PEA ก็สามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที”

ด้าน นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของ PEA ยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนธุรกิจสีเทาอย่างแน่นอน แต่การจะงดจ่ายกระแสไฟฟ้าในเมียนมาต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ไม่ส่งผลกระทบภายหลังจากมีการงดจ่ายไฟฟ้าแล้ว เช่น กระทบกับประชาชน หรือการค้าชายแดน ซึ่งจะต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนจากการประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในวันที่ 4 หรือ 6 กุมภาพันธ์ 2568
ขณะเดียวกันเพื่อแก้ปัญหาการจำหน่ายไฟฟ้าในเมียนมา ทางคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน PEA ได้ตรวจสอบสัญญาและได้แนะนำให้แก้ไขรายละเอียดในสัญญาขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้ทาง PEA ได้ร่างสัญญาฉบับใหม่ขึ้นมาให้มีความรัดกุม รอบคอบมากขึ้น โดยสาระสำคัญที่จะต้องแก้ไขมี 2 ส่วน คือ 1.ในสัญญาจะมีการยืนยันชัดเจนว่าไฟฟ้าที่ซื้อจากไทยไปจะขายให้กับใครบ้าง เช่น หน่วยงานด้านศาสนา การศึกษา และสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่ง PEA จะมีการตรวจสอบตรงนี้อย่างเข้มข้น 2.หากพบว่ามีการสั่งจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงสามารถงดจ่ายไฟฟ้าได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้ร่างสัญญาฉบับใหม่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด หากผ่านความเห็นชอบก็จะเสนอบอร์ด PEA อนุมัติประกาศบังคับใช้ทันที

ทั้งนี้ สัญญาขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านฉบับใหม่จะครอบคลุมสัญญาเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบัน PEA จำหน่ายไฟฟ้าให้กับเมียนมาอยู่ 5 จุด ขนาด 210 ล้านหน่วย มีรายได้ประมาณ 800 ล้านบาทต่อปี ประเทศกัมพูชา 9 จุด ขนาด 216 ล้านหน่วย มีรายได้ประมาณ 800 ล้านบาทต่อไป และ สปป.ลาว 4 จุด 630,000 หน่วย มีรายได้ประมาณ 1 ล้านบาทต่อไป