
ฉากแรกสงครามการค้าสร้างความไม่แน่นอนต่อระบบการค้าโลกแต่ยังไม่รุนแรง WTO ต้องมีบทบาทนำป้องกันการขยายวงของความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ระบุหากสหรัฐฯขึ้นภาษีต่อจีน 10% และแคนาดา เม็กซิโก 25% เป็นการถาวรและไม่มีการตอบโต้จะทำให้รายได้ภาษีเพิ่มขึ้นถึง 9.63 แสนล้านดอลลาร์ ถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงปี ค.ศ. 2025-2034 คิดเป็นภาษีเพิ่มขึ้น 800 ดอลลาร์ต่อครัวเรือน และทำให้จีดีพีในระยะยาวปรับตัวลดลง –0.4% จับตามูลค่าการค้าโลกทรุดกว่า 50% นำไปสู่ความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก New Global Great Depression ได้ ขณะที่ผลบวกจากการย้ายฐานการผลิตของทุนจีนต่อไทยเพื่อเลี่ยงสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯในครั้งนี้จะมีไม่มากนัก แต่ไทยและอาเซียนจะเผชิญปัญหาภาวะสินค้าจีนทะลักเข้าสู่ตลาดภายในและถูกขับเบียดในตลาดโลก
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ฉากแรกสงครามการค้าสร้างความไม่แน่นอนต่อระบบการค้าโลกแต่ยังไม่รุนแรง ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเพื่อสร้างอำนาจต่อรองแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริการนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าหลักสามประเทศ แคนาดา เม็กซิโก และจีนที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี การปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 10% และ สินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก 25% จะทำให้สหรัฐอเมริกาลดการนำเข้าจากสามประเทศคู่ค้าหลักประมาณ 15% ทำให้การขาดดุลการค้าอาจดีขึ้นทันทีในระยะสั้น และสามารถเพิ่มรายได้จากภาษีศุลกากรทันทีขั้นต่ำ 1 แสนล้านดอลลาร์ จากการประเมินของ Tax Foundation ของสหรัฐฯระบุว่า หากสหรัฐฯขึ้นภาษีต่อจีน 10% และแคนาดา เม็กซิโก 25% เป็นการถาวรและไม่มีการตอบโต้จะทำให้รายได้ภาษีเพิ่มขึ้นถึง 9.63 แสนล้านดอลลาร์ ถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงปี ค.ศ. 2025-2034 คิดเป็นภาษีเพิ่มขึ้น 800 ดอลลาร์ต่อครัวเรือน และ ทำให้จีดีพีในระยะยาวปรับตัวลดลง -0.4% ( reduce long-run economic output by 0.4 percent (0.3 percent from the tariffs on Canada and Mexico and 0.1 percent from the tariffs on China)
การปรับขึ้นภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนของรัฐบาลทรัมป์ในสมัยแรกและต่อเนื่องมายังสมัยรัฐบาลไบเดน ดุลการค้าของสหรัฐฯไม่ได้ดีขึ้นนัก แม้นสหรัฐฯลดการนำเข้าสินค้าจีนที่ถูกตั้งกำแพงภาษี แต่สหรัฐฯนำเข้าเพิ่มขึ้นในสินค้าประเภทเดียวกันจากประเทศอื่นทดแทน อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราภาษีศุลากรกรต่อประเทศสมาชิกเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนืออย่างเม็กซิโก แคนนดาจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของเม็กซิโก แคนาดาและสหรัฐฯเอง จากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและเป็นห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน ธุรกิจอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมอาหาร กระทบรุนแรงต่อการจ้างงานโดยรวมระยะปานกลางและระยะยาว กระทบต่อค่าครองชีพและทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงได้ ต้นทุนการผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯเพิ่มขึ้นคันละ 3,000 ดอลลาร์ทุกๆการผลิตรถยนต์หนึ่งคัน เม็กซิโกส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารจำนวนมากมายังสหรัฐฯพืชผักผลไม้มากกว่า 60% ที่สหรัฐฯบริโภคนำเข้าจากเม็กซิโก จะทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นได้
รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ความเป็นไปได้จริงๆของการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าต่อสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาถึง 25% ครั้งเดียว จึงมีความเป็นไปได้ไม่มากนักหลังจากที่มีการทบทวนยืดเวลาการขึ้นภาษีไปหนึ่งเดือน กำแพงภาษีนำเข้าจะกระทบต่อเศรษฐกิจเม็กซิโกและแคนาดารุนแรงกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มที่สองประเทศน่าจะทำตามข้อต่อรองสหรัฐฯเพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นภาษี เนื่องจากแคนาดา เม็กซิโก มีสัดส่วนมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯเทียบกับมูลค่าส่งออกทั้งหมดอยู่ที่ 78% และ 80% ตามลำดับ ขณะที่ สหรัฐฯ นำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก ประมาณ 14-15% เท่านั้น เป็นไปได้สูงที่เม็กซิโกและแคนาดาจะเลือกเจรจากับสหรัฐฯมากกว่าตอบโต้ทางการค้าแบบจีน ทำให้อำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯสูงมากกรณีของแคนาดาและเม็กซิโก สถานการณ์แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกรณีของจีน จีนลดการพึ่งพิงตลาดส่งออกสหรัฐฯมากขึ้นตามลำดับจนปัจจุบัน มีสัดส่วนเพียง 15% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดเท่านั้น โดยสัดส่วนมูลค่าส่งออกของสินค้าจีนต่อมูลค่าส่งออกของการค้าโลกยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จีนได้ขยายฐานในตลาดอื่นๆทั้งในละตินอเมริกา เอเชียและแอฟริกา ทดแทน ตลาดสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง
รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า หากสงครามการค้าขยายวงและมีการตอบโต้กันด้วยกำแพงภาษีนำเข้าและมาตรการอื่นๆ ทาง DEIIT เห็นสอดคล้องกับการประเมินตัวเลขผลประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยมีสมมติฐานว่า หากสหรัฐฯ จีนและยุโรป เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกันที่ 10% และสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจากประเทศอื่นอีก 10% จะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลง 0.4% และ 0.6% ในปี พ.ศ. 2568 และ 2569 WTO ต้องมีบทบาทนำป้องกันการขยายวงของความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ และ WTO ต้องนำเรื่องการฟ้องร้องของจีนเข้าสู่การพิจารณาและไต่สวนทันที หากสหรัฐฯเพิ่มอัตราภาษีนำเข้ามากกว่า 30% ขึ้นไปจากระดับปัจจุบันอาจทำให้เศรษฐกิจจีนอัตราการขยายตัวของจีดีพีชะลอตัวได้มากกว่า 0.4-0.5% ความขัดแย้งทางการค้าในระดับโลกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านห้าช่องทาง ช่องทางการส่งออก ช่องทางการลงทุน ช่องทางภาคการผลิตและการจ้างงาน ช่องทางท่องเที่ยว และ ช่องทางระดับราคาและเงินเฟ้อ แต่ผลกระทบมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอยู่กับกำแพงภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้าที่ถูกนำมาใช้จริง ขึ้นอยู่กับการตอบโต้และการปรับตัวของประเทศคู่ค้า
หากสงครามทางการค้านำไปสู่มูลค่าการค้าโลกทรุดกว่า 50% ขึ้นไปอาจนำไปสู่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก New Global Great Depression ได้ ความเสี่ยงนี้แม้นยังมีความเป็นไปได้ต่ำแต่ไม่ควรประมาท เพราะหากปล่อยให้เกิดขึ้นเช่นในอดีตแล้ว สงครามเศรษฐกิจและความขัดแย้งทางการค้าจะนำไปสู่ “วิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่” อันเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ “กลุ่มสุดโต่งทางการเมืองและลัทธิชาตินิยมสุดขั้ว” เข้าสู่อำนาจทางการเมืองและนำไปสู่ภาวะสงครามได้ เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้น วิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกช่วงต้นทศวรรษ 1930 นำไปสู่การขึ้นสู่อำนาจของ พรรคนาซีในเยอรมัน และ พรรคฟาสซิสต์ในอิตาลี รวมทั้งการขึ้นสู่อำนาจของเผด็จการทหารในหลายประเทศ นำไปสู่ สงครามครั้งที่สองในที่สุด
รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การชนะเลือกตั้งคราวนี้ของโดนัล ทรัมป์มีบางอย่างคล้าย สถานการณ์ตอนประธานาธิบดีฮูเวอร์ชนะเลือกตั้งช่วงวิกฤติเศรษฐกิจกตกต่ำเริ่มก่อตัว มีการเรียกร้องของกลุ่มผลประโยชน์ให้รัฐบาลเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการจ้างงานในสหรัฐฯ ในยุคสมัยของประธานาธิบดีฮูเวอร์ ในปี ค.ศ.1930 รัฐสภาผ่านรัฐบัญญัติพิกัดอัตราภาษีศุลกากรฮอว์ลีย์–สมูต (Hawley–Smoot Tariff Act) อันเป็นรัฐบัญญัติที่เรียกเก็บภาษีสินค้าขาเข้าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา มีสินค้า 20,000 รายการถูกปรับขึ้นภาษีเป็น 60% มีการตอบโต้โดยประเทศยุโรปปรับภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯเพิ่มอีก 30-40% นำไปสู่ภาวะซบเซาทางการค้าระหว่างประเทศทำให้เศรษฐกิจทั้งสหรัฐฯและยุโรปได้รับผลกระทบ มีสถานการณ์บางอย่างคล้ายกันอีก คือ มีการยื่นขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการปรับขึ้นภาษีโดยนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากทั้งในสมัยรัฐบาลฮูเวอร์และรัฐบาลทรัมป์
การแก้ไขปัญหาด้วยการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมมากยิ่งขึ้นและไม่ได้แก้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพราะสินค้าของประเทศอุตสาหกรรมในยุโรปไม่อาจขายแข่งในตลาดสหรัฐอเมริกาได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจของยุโรปยิ่งทรุดตัว จึงไม่มีเงินซื้อสินค้าอเมริกัน และยังตอบโต้สหรัฐอเมริกาด้วยการตั้งกำแพงภาษีสินค้าขาเข้าสูงเช่นเดียวกัน ทำให้สหรัฐอเมริกายิ่งส่งสินค้าออกได้น้อยลง สงครามการค้าที่ตอบโต้กันด้วยการขึ้นกำแพงภาษีไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกเลย และ ในที่สุด หลายประเทศก็แข่งขันกันลดค่าเงิน อังกฤษตัดสินใจยกเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบมาตรฐานทองคำ นำไปสู่การล่มสลายของระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาตรฐานทองคำในที่สุด ต่อมาประธานาธิบดีฮูเวอร์พยายามบรรลุข้อตกลงกับนานาชาติเพื่อฟื้นฟูการค้าระหว่างประเทศแต่ก็ไม่เป็นผล การค้าระหว่างประเทศระหว่างค.ศ.1929 – 1932 จึงตกต่ำจนมูลค่าการซื้อขายในวงการค้าโลกลดลงกว่าครึ่ง การเลือกตั้งสมัยต่อไป ประชาชนได้เทคะแนนให้พรรคเดโมแครต ภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เลวร้ายขึ้นทุกทีประกอบกับความไม่พอใจของประชาชนในการแก้ไขปัญหาของฮูเวอร์ ทำให้แฟรงกลิน เดลาโน รูสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt ค.ศ. 1933-1945 ) จากพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีรูสเวลต์นำโครงการนิวดีลมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมทันทีตามที่ได้หาเสียงไว้ โดยตั้งปณิธานไว้ 3ประการ โดยแนวคิดในการดำเนินนโยบายได้รับอิทธิพลจากลัทธิเคนเสี่ยน ที่เรียกว่า “The 3Rs” ได้แก่ การบรรเทาทุกข์ การฟื้นฟู และการปฺฏิรูป (Relief, Recovery, and Reform)
นอกจากนี้ ทาง DEIIT ประเมินว่า ผลบวกจากการย้ายฐานการผลิตของทุนจีนต่อไทยเพื่อเลี่ยงสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯในครั้งนี้จะมีไม่มากนัก เนื่องจากในสงครามการค้ารอบนี้ “ไทย” จะเป็นประเทศที่เป็นเป้าหมายที่จะถูกขึ้นกำแพงภาษีเช่นเดียวกันเนื่องจากเกินดุลการค้าจากสหรัฐฯจำนวนมาก นอกจากนี้ กลุ่มทุนสัญชาติจีนยังได้ย้ายฐานมาลงทุนไทยอย่างต่อเนื่องแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ไทยและอาเซียนจะเผชิญปัญหาภาวะสินค้าจีนทะลักเข้าสู่ตลาดภายใน โดยจีนจะเร่งระบายสินค้าออกมาจากปัญหากำลังการผลิตล้นเกิน ภาคการผลิตของไทยจะถูกสินค้าถูกทุ่มตลาดของจีนแย่งส่วนแบ่งภายในประเทศ การส่งออกไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดอาเซียนและตลาดโลกให้จีนเพิ่มขึ้นจากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาถดถอยลง ขณะที่เงินหยวนอ่อนค่า เงินบาทแข็งค่า โดยเฉพาะ สินค้ากลุ่มยานยนต์ สินค้าเหล็กและหมวดโลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ สินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น การบริโภคของไทยพึ่งพาสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไทยอาจได้รับผลบวกบ้างจากการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯทดแทนจีน และเป็นสินค้ากลุ่มที่สหรัฐฯไม่ได้เก็บภาษีจากไทยโดยตรง