Thursday, 19 September 2024 - 8:46 am
spot_img
Thursday, 19 September 2024 - 08:46
spot_img

“เชฟรอน” พาชม ‘หอดูดาวสองทะเล’ จ.สงขลา ถือฤกษ์ดี 7-6-67 สักการะพระเจดีย์บนเขารูปช้างที่บูรณะใหม่

“เชฟรอน” พาชม ‘หอดูดาวสองทะเล’  เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา แหล่งเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ที่ครบวงจรแห่งแรกของภาคใต้ เปิดโอกาสให้เยาวชน ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ได้เรียนรู้และเข้าถึงการใช้อุปกรณ์ทางด้านดาราศาสตร์อย่างสนุกสนาน พร้อมได้ฤกษ์มงคล 7-6-67 กราบสักการะพระเจดีย์บนเขารูปช้างหลังบูรณะเสร็จแล้ว

หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน เป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประชาชน เพื่อจัดสร้างหอดูดาวในภูมิภาคต่างๆ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ขอนแก่น และพิษณุโลก  ซึ่งปัจจุบันได้เปิดบริการแล้ว 3 แห่ง ใน นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กระจายไปสู่แต่ละภูมิภาค ให้ประชาชนได้มีโอกาสในการเรียนรู้ ดาราศาสตร์อย่างทั่วถึงและทัดเทียมกัน พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาของแต่ละภูมิภาค และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของในแต่ละภูมิภาคอีกด้วย 

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา (หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา)ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ บริเวณเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาเป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ และได้เปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562  ด้วยตำแหน่งที่ตั้งในภาคใต้ บริเวณละติจูด 7 องศาเหนือ ส่งผลให้หอดูดาวแห่งนี้ สามารถศึกษาวัตถุในซีกฟ้าใต้ได้ดีกว่าหอดูดาวในภูมิภาคอื่นๆ และยังสามารถสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในช่วงฤดูฝน ซึ่งภาคใต้จะมีสภาพท้องฟ้าที่เอื้ออำนวยต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์มากกว่าภูมิภาคอื่น ทำให้สามารถสนับสนุนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์สำหรับนักเรียน นักศึกษา และสถาบันการศึกษาภาคใต้ รวมถึงเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์มุสลิมแห่งแรกของไทยอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีวิวทิวทัศน์โดยรอบที่สวยงาม มองเห็นทั้งทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย ทำให้หอดูดาวแห่งนี้มีความสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย  

ภายในหอดูดาวประกอบด้วย อาคารฉายดาว ซึ่งมีโดมฉายดาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร ติดตั้งเครื่องฉายดาวระบบฟูลโดม ดิจิทัล ความละเอียด 25 ล้านพิกเซล และอาคารหอดูดาว ประกอบด้วย โดมไฟเบอร์กลาสทรงเปลือกหอย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 ฟุต สามารถเปิดออกได้ 180 องศา  สามารถสังเกตท้องฟ้าได้รอบทิศทาง ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-0.7 เมตร พร้อมอุปกรณ์สำหรับงานวิจัยทางดาราศาสตร์ ส่วนระเบียงดาวภายใต้หลังคาเลื่อน ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีกจำนวน 5 ชุด สำหรับให้บริการสังเกตวัตถุท้องฟ้า และจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ รวมถึงกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์สำหรับเยาวชน ซึ่งหอดูดาวได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เพื่อส่งเสริมให้หอดูดาวสงขลาเป็น “ศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์ที่สำคัญของภาคใต้” อันเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์และดาราศาสตร์อิสลามให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ตามวัตถุประสงค์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ นอกจากนี้ เชฟรอนฯ ยังสนับสนุนงบในการบูรณะพระเจดีย์บนเข้ารูปช้างให้กับทางสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา เป็นผู้ดำเนินการด้วย และถือโอกาสเข้ากราบสักการะพระเจดีย์บนเข้ารูปช้างตามฤกษ์ดีวันที่ 7 เดือน 6 ปี 67 ด้วย

ในวันเดียวกันวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านา บริษัท เชฟรอนฯ ได้นำคณะสื่อมวลชนชมหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา หลังให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยงบประมาณกว่า 30 ล้านบาท นอกจากการสนับสนุนการก่อสร้างและพัฒนาสถานที่แล้ว เชฟรอนยังร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม ให้กับประชาชนและเยาวชนในจังหวัดสงขลา และจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเพื่อสังคมของบริษัท โดยโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอนครอบคลุมในทุกมิติ เช่น

  • การก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ทางดาราศาสตร์และการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ในช่วงปี พ.ศ. 2560-2561 รวมงบประมาณกว่า 13 ล้านบาท เพื่อให้บริการวิชาการทางด้านดาราศาสตร์ให้กับสถานศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ใน 14 จังหวัดภาคใต้ และประเทศใกล้เคียง
  • นิทรรศการดาราศาสตร์ภายในอาคาร (Indoor Exhibition) เน้นการสร้างฐานการเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์ จำนวน 14 โซน เพื่อให้นักเรียนและผู้เข้ามาเยี่ยมชมได้เข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับดาราศาสตร์ผ่านนิทรรศการที่มีชีวิตและสามารถสัมผัสและทดลองได้อย่างใกล้ชิด
  • นิทรรศการดาราศาสตร์ภายนอกอาคาร (Outdoor Exhibition) เสริมสร้างการเรียนรู้ของเยาวชนที่เข้ามาทัศนศึกษาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ สามารถรองรับผู้เข้าชมจำนวนมากและสามารถเข้าถึงข้อมูลในพร้อมกัน อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ของหอดูดาวสงขลา พร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • กิจกรรมดาราศาสตร์ (Road Show Exhibition) มุ่งเน้นการจัดคาราวานเผยแพร่ความรู้ทางดาราศาสตร์ให้กับโรงเรียนและสถานที่ที่สำคัญ ๆ ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ คือ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร เพื่อกระจายโอกาสการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ให้กับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เกิดความตระหนักและตื่นตัวทางดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้น
  • กิจกรรมค่ายเยาวชนคนดูดาวเท้าติดทะเล เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้กับเยาวชนอายุตั้งแต่ 15-19 ปี จากทั่วประเทศ ได้เรียนรู้เรื่องการดูดาว การสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้า และฝึกติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ด้วยตัวเอง อันเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่
  • โครงการสนับสนุนก่อสร้างลานเอนกประสงค์ ในปี พ.ศ. 2565 สำหรับจัดกิจกรรมดูดาวกลางแจ้ง และกิจกรรมทางดาราศาสตร์อื่นๆ

นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้จัดการหอดูดาวภูมิภาคอาวุโส หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา กล่าวว่า “หอดูดาวสงขลาแห่งนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ที่ครบวงจรแห่งแรกของภาคใต้ เปิดโอกาสให้เยาวชน ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ได้เรียนรู้และเข้าถึงการใช้อุปกรณ์ทางด้านดาราศาสตร์อย่างสนุกสนาน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความสนใจในการเลือกเรียนสาขาวิทยาศาสตร์ เพราะดาราศาตร์เป็นพื้นฐาน องค์ความรู้ ‘เหตุและผล’ ที่เก่าแก่ที่สุดสาขาหนึ่ง สามารถต่อยอดการเรียนรู้ในสาขาอื่นที่หลากหลาย อีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของทางหอดูดาว คือ การกระจายโอกาสการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องให้กับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และประชาชนทั่วไป ทางหอดูดาวจึงจัดกิจกรรมดาราศาสตร์สัญจร ค่ายเยาวชนคนดูดาวเท้าติดทะเล รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ในภาคใต้ เพื่อสร้างความตระหนักและตื่นตัวทางดาราศาสตร์ให้มากยิ่งขึ้น หอดูดาวแห่งนี้ ยังมีฉายาอีกชื่อคือ ‘หอดูดาวสองทะเล’ ด้วยสถานที่ตั้งอยู่บริเวณเนินเขารูปช้าง ทำให้สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของทั้งทะเลสาบสงขลา และทะเลอ่าวไทย รวมถึงทัศนีย์ภาพของเมืองสงขลาได้ชัดเจน  จึงมีความโดดเด่น และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของสงขลาและภาคใต้ของประเทศอีกด้วย”

LATEST NEWS