
กระทรวงคมนาคม ร่วมกับ จังหวัดนนทบุรี กฟผ. และกรมเจ้าท่า เปิดท่าเรือพระราม 7 โฉมใหม่ ยกระดับสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว คาดหากเปิดท่าเรืออัจฉริยะครบ 29 แห่งในปี 2570 จะมีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 53,000 คน/วัน ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 280,230 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

วันนี้ (4 เมษายน 2568) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดท่าเรือพระราม 7 โดยมีนายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายอภิชัย อร่ามศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เข้าร่วมในพิธี ณ ท่าเรือพระราม 7 ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมและกรมเจ้าท่าได้รับนโยบายจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เดินหน้าสานต่อนโยบาย “คมนาคม เพื่อโอกาสประเทศไทย” ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ “ราชรถยิ้ม” ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม พัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความสะดวก ปลอดภัย เชื่อมโยงระบบโครงข่ายคมนาคม พร้อมช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับ กฟผ. ก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือพระราม 7 ให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะที่นักท่องเที่ยวจะได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ และสร้างรายได้ให้กับประเทศ

นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมเจ้าท่ามุ่งมั่นดำเนินการก่อสร้างและพัฒนายกระดับท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 29 แห่ง ให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ ซึ่งปัจจุบัน ได้ก่อสร้างและพัฒนาแล้วเสร็จ 12 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า สะพานพุทธ นนทบุรี สาทร ท่าช้าง ท่าเตียน ราชินี พายัพ บางโพ พระราม 5 พระปิ่นเกล้า และพระราม 7 ส่วนท่าเรืออีก 17 แห่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570 คาดในปีดังกล่าวจะมีผู้ใช้บริการท่าเรืออัจฉริยะทั้งหมด 29 แห่ง เฉลี่ยจำนวน 53,000 คน/วัน สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 280,230 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เสริมว่า โครงการ “ท่าเรืออัจฉริยะพระราม 7” เป็นผลจากความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และกรมเจ้าท่า ภายใต้แนวคิดการพัฒนาพื้นที่บางกรวยให้เป็นเมืองที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์วิถีชีวิตของประชาชนแบบ New Normal โดยนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาผสานเข้ากับระบบคมนาคมทางน้ำ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเดินทาง ภายใต้แนวคิด 5 Smart ประกอบด้วย 1) Smart Energy ประยุกต์ใช้นวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ ควบคู่กับระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน เพื่อยกระดับให้ท่าเรืออัจฉริยะพระราม 7 สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง และ ควบคุมการใช้พลังงานภายในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ 2) Smart Safety ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในท่าเรือ อาทิ กล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัย ระบบเตือนภัยคนตกน้ำ 3) Smart Lighting ระบบไฟส่องสว่างอัตโนมัติ ลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น 4) Smart Digitalization ระบบข้อมูลดิจิทัลอัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และ 5) Smart Service ตรวจสอบข้อมูลการเดินเรือ ข่าวสาร และสถานที่ที่น่าสนใจใน อ.บางกรวย ผ่านแอปพลิเคชัน Smart Pier รวมถึงการให้บริการสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า และตู้ชาร์จอัจฉริยะสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

ด้านนายอภิชัย อร่ามศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า จังหวัดนนทบุรี ตั้งอยู่ในเขตปริมณฑล มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน มีท่าเรือสำคัญที่เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างจังหวัด และมีเกาะเกร็ดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่นิยมล่องเรือชมทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้น การควบคุม และกำกับดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทางน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ หน่วยงานต่าง ๆ จึงได้ร่วมมือกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่ง เพื่อเพิ่มทางเลือกและความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว
สำหรับท่าเรือพระราม 7 ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด “ท่าเรือที่ใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด” ใช้ปรากฎการณ์แสงสะท้อนกับผิววัสดุ ทำให้สีอาคารเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งวัน ภายในอาคารใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า และใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ระบบนับจำนวนคนอัตโนมัติ รวมถึงการรองรับการเข้าถึงได้ของผู้ใช้บริการ อาทิ ทางลาดและห้องน้ำสำหรับผู้พิการ สถานีชาร์จรถไฟฟ้า มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะทางน้ำมากขึ้นเพื่อลดปัญหาการจราจร เพิ่มความสะดวกในการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล