
“พีดีพี2024” ยังอลเวง แนะปรับปรุงพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าใหม่ลดภาระค่าไฟฟ้า “ดร.คุรุจิต” หนุนแก้กฏหมายให้ กฟผ. สร้างโรงไฟฟ้าแข่งขันเอกชนได้ พร้อมแท็กทีมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลุย SMR สูตรสำเร็จมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้าน TDRI สำทับภาระต้นทุนที่ไม่จำเป็นดันค่าไฟฟ้าแพง
ในเวทีเสวนา “PDP2025 (24) ความเงียบของราคาค่าไฟแพง กับการลงทุนที่ประชาชนไม่มีเสียง” จัดขึ้นโดย SDG Move TH และ Data Hatch ได้ตอกย้ำให้เห็นว่า แผนพีดีพี2024 หรือ พีดีพี 2025 ยังมีข้อผิดพลาดเช่นเดียวกับแผนพีดีพี2018 และ แผนพีดีพี2015 ทำให้เกิดปัญหาราคาค่าไฟฟ้าแพงตามมา และสร้างปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ จึงแนะนำให้เพิ่มบทบาทของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ประเทศไทย (กฟผ.)ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ให้สามารถสร้างโรงไฟฟ้าแข่งขันกับเอกชนยักษ์ใหญ่ได้
“ดร.คุรุจิต นาครทรรพ” อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย ได้ชี้ให้เห็นการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของแผนพีดีพีฉบับใหม่ผิดพลาดว่า “ร่างแผนพีดีพีฉบับล่าสุดมีการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าโดยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก แต่ไม่คำนึงถึงยุคปัจจุบันที่มีการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เอง เอาไว้ใช้เอง จะเห็นว่าทุกวันนี้ไม่มีการเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ในช่วงกลางวันเหมือนแต่ก่อน แต่ไปเกิดตอนกลางคืนแทน เพราะคนหันไปผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เอง”
เมื่อคำนึงถึงมิติความมั่นคงด้านไฟฟ้ามีการจัดหาไฟฟ้าเข้ามารองรับเอาไว้ 77,407 เมกะวัตต์ บวกกับกระแสลดภาวะโลกร้อน ทำให้แผนพีดีพีฉบับใหม่ กำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มจาก 36% เป็น 51% หรือมีจำนวน 34,851 เมกะวัตต์ จะกลายเป็นภาระของประชาชนที่ต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าแพง

“บางทีก็อ้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า บางทีก็อ้างพลังงานสะอาด บางทีก็อ้างราคาถูก สุดท้ายเมื่อเอาทุกอย่างมารวมกันถึงทำให้ราคาค่าไฟฟ้าแพง” ผอ.สถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย กล่าว
ในอนาคตแผนพีดีพีฉบับใหม่จะกลายเป็นปัญหาซ้ำรอยเช่นเดียวกับแผนพีดีพี2018 ปรับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่มีการกำหนดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมสูงถึง 77,211 เมกะวัตต์ แล้วมีการเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้ามากถึง 8,871 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการจัดหาพลังงานหมุนเวียนล็อตใหม่ที่ไม่อยู่ในแผนพีดีพี2018
“เมื่อปี 2564 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศในเวทีประชุม Corp26 วางเป้าหมายประเทศไทยให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40% ในปี 2030 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อปี 2565 จึงได้มีมติให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ไม่ต้องมีแผนพีดีพีมารองรับ และก่อนเลือกตั้งปี 2566 กพช. ได้อนุมัติเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด จำนวน 3,668 เมกะวัตต์ ซึ่งการที่อนุมัติรับซื้อไฟฟ้าไปแล้วจะกลายเป็นต้นทุนไปบวกอยู่ในค่าไฟฟ้าฐานทั้งหมด” ดร.คุรุจิต กล่าวและว่า
“เราต้อง Go Green อย่างมีสติ ไม่เห่อตามกระแส ผมมองว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ในระยะยาวยังไม่สามารถพึ่งพาได้ แม้ว่าจะมีระบบกักเก็บกระแสไฟฟ้าด้วยแบตเตอร์รี่ก็ตาม วิธีที่ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ต้องออกมากล้าพูด กล้าทำโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR และการทำงานให้สำเร็จต้องไม่ซ้ำรอยเหมือนที่ผ่านมาที่ปล่อยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตายเดี่ยว ถึงเวลาแล้วที่จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันกับหลายกระทรวงด้วยกัน”
ในแผนพีดีพี2024 ได้กำหนดสัดส่วน SMR อยู่ที่ 1% หรือจำนวน 600 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายแผนปี 2580 ซึ่งทาง “ดร.คุรุจิต” ได้เสนอสัดส่วนเชื้อเพลิงที่อยากเห็นในการผลิตไฟฟ้าของไทยในปี 2583 SMR ควรมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 5% ก๊าซธรรมชาติ 45% ถ่านหิน ลิกไนต์ 14% พลังงานแสงอาทิตย์และลม 23% พลังน้ำ 4% และซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 9%

“ถ้าสัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตามแผนพีดีพีฉบับใหม่ที่ผมอยากเห็นออกมาแบบนี้ รับรองว่าจะไม่มีใครกล้าออกมาพูดว่าประเทศไทยไม่เอาจริงเอาจรังเรื่องลดก๊าซเรือนกระจกเลย”
ทั้งนี้ สิ่งที่ภาครัฐไม่ควรดำเนินการคือ การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ เพราะจะทำให้มีการนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ควรจัดแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศแทน รวมถึงร่วมมือแสวงหาก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาด้วย
นอกจากนี้ การกำหนดกำลังการผลิตสำรอง หรือ Reserve Margin ที่เหมาะสมไม่ควรมีเกิน 15% แต่แผนพีดีพีที่ผ่านมาได้พยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าผิดพลาด ทำให้มีการสำรองปริมาณไฟฟ้าเอาไว้สูง ผลที่ตามมาทำให้มีการก่อสร้างโรงฟฟ้ามากเกินไป ทำให้เป็นต้นทุนบวกเข้าไปอยู่ในค่าไฟฟ้าฐานทั้งหมด
“แผนพีดีพี2015 และแผนพีดีพี2018 ผลการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าผิดพลาด ส่งผลให้มีกำลังการผลิตสูงเกินไป บางปีมีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงถึง 50%”
ดร.คุรุจิต กล่าวด้วยว่า การจัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่รัฐบาลควรปรับหลักคิดใหม่ด้วยการไม่ต่อสัญญาโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP),โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ที่หมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว เพราะส่วนใหญ่โรงไฟฟ้าที่หมดอายุได้กำไรคืนหมดแล้ว แต่ควรให้สิทธิมาขายไฟฟ้าในรูปแบบประมูลเป็นช่วงเวลาในตลาด Power Pool รวมถึงควรเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้ารายเล็ก VSPP และโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ Peer to Peer หรือ Direct PPA
นอกจากนี้ การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศต้องคัดเลือกจาก Tariff Bidding โดยไม่มีการแทรกแซงจากผู้ที่มีอำนาจให้ซื้อในราคาที่กำหนดเอาไว้แล้ว แต่ควรให้ กฟผ.ซื้อในราคาที่เหมาะสมแล้วไปบวกกำไรจากการเข้าไปลงทุนผ่านบริษัทลูก ไม่ว่าจะเป็นบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ้กโก กรุ๊ป
ที่สำคัญรัฐบาลควรกำหนดบทบาทเรื่องความมั่นคงและแนวทางการเติบของ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.),การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA และ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือ MEA ด้วยการให้แข่งขันผ่านบริษัทลูกได้ รวมถึงปลดล็อกกกฎระเบียบรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะทำให้ กฟผ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันกับเอกชนรายใหญ่ได้
การเพิ่มโอกาส กฟผ. จะเป็นช่องทางในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ที่จะเหลือเพียง 17% หรือประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายแผนแผนพีดีพีฉบับใหม่ จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 29% เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ
และรัฐบาลต้องสงวนโรงไฟฟ้าบางประเภท เช่น เขื่อนพลังน้ำ การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และการสร้างโรงไฟฟ้าในภูมิภาคที่มีปริมาณไฟฟ้าขาดแคลน เช่น ภาคใต้ เอาไว้ให้ กฟผ. แทนที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ภาคตะวันตก ส่วน กฟภ. ควรมีการเปิดให้บริการสมาร์ทกริดในพื้นที่พัทยา ภูเก็ต และสมุย

ทางด้าน “ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์” นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ปัญหาของแผนพีดีพี2024 คือการสร้างภาระต้นทุนที่ไม่จำเป็นส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าแพง TDRI จึงได้เสนอให้มีการปรับการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ เพื่อสนับสนุนสมดุลพลังงานด้านราคาและความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้า โดยเสนอให้หยุดการสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลขนาดใหญ่ หยุดการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่ภาครัฐรับผิดชอบต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และเปลี่ยนลำดับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าใหม่
นอกจากนี้ ควรใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีด้านพลังงานให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนสมดุลพลังงานด้านความยั่งยืน โดยควรเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ และเร่งลงทุนพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน, ระบบไมโครกริด และการลดใช้พลังงานแบบสมัครใจ หรือ Demand Response
รวมถึงการปรับระบบการผลิตและซื้อขายไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนสมดุลพลังงานด้านความยั่งยืนในการเร่งพัฒนาพลังงานสะอาดให้ทันใช้ โดยตั้งเป้าการสนับสนุนผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ด้วยการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งการอนุมัติเพิ่มโควตาและปรับราคารับซื้อในระบบ Net Billing ให้สูงขึ้น การตั้งเป้าหมายการเร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานสะอาด โดยการเปิดให้สิทธิเอกชนเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าด้วยค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม