Monday, 7 July 2025 - 4:10 pm
spot_img
Monday, 7 July 2025 - 16:10
spot_img

EGCO Group โชว์ศักยภาพโรงไฟฟ้าพลังงานลม “หยุนหลิน” คาดสร้างกระแสเงินสด 2 พันล้านบาทต่อปี หนึ่งในเรือธงหนุนเป้าเพิ่มกำลังผลิต RE เป็น 30% ในปี 2573

EGCO Group โชว์ศักยภาพบิ๊กโปรเจกต์โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง “หยุนหลิน” ในไต้หวันนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าฯ ที่ประสบความสำเร็จในการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบครบ 80 ต้น เมื่อเดือนมกราคม 2568 และได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าเพื่อเดินเครื่องเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ รวมกำลังผลิต 640 เมกะวัตต์  เมื่อเดือนมิถุนายน 2568 ทำให้ในปีนี้สามารถรับรู้รายได้ได้เต็มปี โดยคาดว่าจะสร้างกระแสเงินสด 2 พันล้านบาทต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก รวมทั้งมีส่วนช่วยสนับสนุนเป้าหมายของ EGCO Group ที่มุ่งเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ของกำลังผลิตทั้งหมด ภายในปี 2573

ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เปิดเผยว่า EGCO Group เริ่มเข้าไปลงทุนในไต้หวันปลายปี 2562 ด้วยการเข้าถือหุ้นใน บริษัท ยุนเหนิง วินด์ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งหยุนหลินด้วยเล็งเห็นว่า ไต้หวันมีนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดที่ชัดเจน การตั้งเป้าลดการพึ่งพานิวเคลียร์และถ่านหิน ผลักดันให้พลังงานสะอาดมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการลงทุนพลังงานลมนอกชายฝั่ง โดยเฉพาะบริเวณช่องแคบไต้หวันเป็นตำแหน่งที่มีลมแรงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ซึ่งรัฐบาลไต้หวันได้ส่งเสริมการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติ โดยจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและเศรษฐกิจสีเขียว

“หยุนหลิน” ดำเนินการโดย บริษัท ยุนเหนิง วินด์ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Skyborn Renewables ถือหุ้น 31.98% TotalEnergies ถือหุ้น 29.46% EGCO Group ถือหุ้น 26.56% และ Sojitz Corporation ถือหุ้น 12% ภายหลังได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า (Electricity Business License – EBL) เพื่อเดินเครื่องเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ปัจจุบันบริษัท TotalEnergies รับหน้าที่หลักด้านการเดินเครื่องและบำรุงรักษา (Operations and Maintenance – O&M) ในขณะที่บริษัท Skyborn Renewables ดูแลด้านงานบริหารจัดการโครงการ โดยในส่วนของผู้ถือหุ้นอีกสองราย EGCO Group และ Sojitz Corporation มีบทบาทให้การสนับสนุนด้านการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าและการบริหารธุรกิจในไต้หวัน รวมถึงตัดสินใจในการบริหารงานสำคัญต่าง ๆ ของโครงการ

เสริ์ฟพลังงานสะอาดให้กว่า 6 แสนครัวเรือน

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งหยุนหลิน ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบไต้หวัน ห่างจากชายฝั่งตะวันตกของมณฑลหยุนหลินในไต้หวันเป็นระยะทางประมาณ 8-17 กิโลเมตร ที่ระดับความลึกของน้ำทะเลในช่วง 7-35 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 82 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยกังหันลม 80 ต้น กำลังผลิตต้นละ 8 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งหมด 640 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าของไต้หวันผ่านสถานีไฟฟ้าบนฝั่ง 2 แห่ง บริเวณตำบลไถซีและซื่อหู ในมณฑลหยุนหลิน เพื่อขายให้กับ Taiwan Power Company (TPC) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี

“หยุนหลิน” เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่เป็นลำดับต้น ๆ ของไต้หวัน มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้า 2,400 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับภาคครัวเรือนไต้หวันมากกว่า 600,000 หลังคาเรือน คิดเป็น 90% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนทั้งหมดของมณฑลหยุนหลิน และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี ตลอดเวลาที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าหยุนหลิน เป็นผู้นำในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนในท้องถิ่น สมาคมประมงและมหาวิทยาลัยท้องถิ่นเพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ

บิ๊กโปรเจกต์สร้างกระแสเงินสด2พันล้านต่อปี

ดร.จิราพร กล่าวเสริมว่า หยุนหลินเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งแห่งแรกของ EGCO Group ที่ดำเนินการในไต้หวัน นอกจากช่วยสร้างพลังงานสีเขียวให้กับไต้หวันแล้ว ยังช่วยเพิ่มกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนตามสัดส่วนการถือหุ้นให้ EGCO Group ประมาณ 170 เมกะวัตต์ ในขณะเดียวกัน ยังช่วยสนับสนุนให้ EGCO Group บรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573 ด้วย สำหรับด้านผลการดำเนินงาน คาดว่าหยุนหลินจะสร้างกระแสเงินสดให้ EGCO Group เฉลี่ย 2,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกของการดำเนินโครงการเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 (มกราคม – พฤษภาคม 2568) Yunlin มีอัตราการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) ประมาณ 35% ซึ่ง Capacity Factor เฉลี่ยในระดับที่สูงนี้ ยืนยันศักยภาพของพลังงานลมในพื้นที่ช่องแคบไต้หวันและการสร้างรายได้ในอนาคต”

“ความสำเร็จจากการลงทุนในหยุนหลิน สร้างโอกาสต่อยอดการลงทุนโครงการอื่นๆ ในไต้หวันในอนาคต เนื่องจากหยุนหลินเปิดตลาดการลงทุนให้ EGCO Group ในไต้หวัน ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการลงทุนพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน รัฐบาลไต้หวันรู้จัก EGCO Group ในฐานะนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพและมีความมุ่งมั่นในการดำเนินโครงการให้สำเร็จ EGCO Group มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งจากโครงการ Yunlin และมีพันธมิตรที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูง โดยบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อม และแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะในโครงการพลังงานหมุนเวียนและก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง หากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสม ก็จะใช้องค์ความรู้ที่ได้จากโครงการนี้เป็นปัจจัยพื้นฐานในการร่วมพิจารณาต่อไป” ดร.จิราพร กล่าว

“หยุนหลิน” ใส่ใจการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังานลมนอกชายฝั่งหยุนหลิน มีความท้าทายด้านยุทธศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเมืองหยุนหลินตั้งอยู่บริเวณช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีลมแรงเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่มีศักยภาพนี้ เป็นหนึ่งในบททดสอบสำคัญของการก่อสร้างโครงการ คือ การรับมือกับสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ท้าทายอย่างยิ่ง

สำหรับพื้นที่ติดตั้งกังหันลมตั้งอยู่ในบริเวณน้ำตื้น โดยมีความลึกตั้งแต่ระดับ 8 ถึง 32 เมตร พร้อมทั้งกระแสน้ำขึ้นลงรุนแรง ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการกัดเซาะฐานราก และจำกัดการเข้าถึงของเรือติดตั้ง นอกจากนี้ พื้นที่โครงการตั้งอยู่บริเวณช่องแคบไต้หวันที่มีสภาพคลื่นลมรุนแรง สภาพแวดล้อมดังกล่าวส่งผลให้การดำเนินงานติดตั้งอุปกรณ์กังหันลมนอกชายฝั่งมีความท้าทายเป็นอย่างมาก

ทีมงานโครงการได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่นอย่างแท้จริง ผ่านมาตรการ เชิงรุกและการบริหารจัดการที่แม่นยำ ได้แก่ การสร้างความร่วมมือกับผู้รับเหมาระดับโลก ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อปฏิบัติงานในพื้นที่ทะเลที่มีสภาพแวดล้อมซับซ้อน การดำเนินการเตรียมพื้นทะเลอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันการกัดเซาะและเสริมความมั่นคงให้กับโครงสร้างฐานราก และการบริหารจัดการโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระหว่างช่วงดำเนินการติดตั้ง ทีมสามารถควบคุมการดำเนินงานของเรือปฏิบัติงานได้มากกว่า 30 ลำ ภายใต้แผนงานก่อสร้างนอกชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นความสำเร็จด้านการจัดการในโครงการระดับเมกะโปรเจกต์

ส่วนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “หยุนหลิน”ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลมาโดยตลอด ซึ่งในช่วงก่อสร้างได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันด้านสมุทรศาสตร์ (NTOU) ในการวิจัยเกี่ยวกับกิจกรรมประมง เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง ปริมาณสัตว์น้ำ และผลผลิตทางการประมง จนนำไปสู่การจัดทำฐานข้อมูลประมงแห่งแรกของมณฑลหยุนหลิน

นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งกล้องใต้น้ำบนฐานรากของกังหันลม 2 แห่ง เพื่อติดตามการฟื้นตัวของระบบนิเวศใต้ทะเล ซึ่งพบว่า โรงไฟฟ้าสามารถมีบทบาทคล้ายแนวปะการังเทียมในการสร้างถิ่นอาศัยทางทะเล

ตรวจสอบระดับเสียงใต้น้ำตามมาตรฐาน

มาตรการดูแลสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนการตอกเสากังหันลม (Monopiles) เป้าหมายหลักคือ การดูแลและปกป้องสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล โดยเฉพาะโลมาสีชมพู (Chinese white dolphin) ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง ด้วยการป้องกันไม่ให้สัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วาฬ หรือโลมา ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เข้ามาในบริเวณที่มีการก่อสร้าง รวมถึงลดผลกระทบและตรวจสอบระดับเสียงใต้น้ำให้เป็นไปตามมาตรฐาน

สำหรับการป้องกันไม่ให้สัตว์ทะเลเข้ามาในพื้นที่ก่อสร้างช่วงก่อนการก่อสร้างจริง 30 นาที จะส่งเรือ 4 ลำ ไปใน 4 ทิศทาง ภายในรัศมี 750 เมตร รอบบริเวณที่มีการก่อสร้างเสากังหันลม หรือเรียกว่า Exclusive Zone เพื่อสำรวจพื้นที่ล่วงหน้า และป้องกันไม่ให้สัตว์ทะเลเข้ามาพื้นที่ที่กำลังจะมีการก่อสร้าง

ระหว่างที่มีการตอกเสากังหันลม จะส่งเรืออีก 2 ลำ เพื่อสำรวจและป้องกันสัตว์ทะเล ในพื้นที่เฝ้าระวังเป็นชั้นที่ 2 หรือเรียกว่า Precautionary Area ในระยะ 750-1,500 เมตร จากรัศมีการตอกเสากังหัน ซึ่งหากมีสัตว์ทะเลเข้ามาในพื้นที่นี้ระหว่างการตอกเสากังหันลม โครงการจะหยุดการก่อสร้างชั่วคราว และจะกลับมาดำเนินการต่อได้ เมื่อสัตว์ทะเลไม่ได้อยู่ในพื้นที่แล้ว

บทพิสูจน์แห่งความเข้มแข็งฝ่า “โควิด”

หยุนหลิน คือ ภาพสะท้อนของความร่วมมือ ความมุ่งมั่น และความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรคร่วมกัน Yunlin ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และข้อจำกัดด้านเทคนิคในการติดตั้งในพื้นที่ที่ท้าทายข้างต้น ทีมงานได้จัดทำแผนแม่บทระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 และสามารถดำเนินโครงการจนสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

โดยแผนแม่บทประกอบด้วย กำหนดการดำเนินงานที่ครอบคลุม การบริหารความเสี่ยง การประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และการบริหารความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย โดยได้เพิ่มอุปกรณ์และกำลังคนในการดำเนินงานติดตั้งเป็น 2 เท่าในปี 2567 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการหยุนหลินสำเร็จลุล่วงได้ตามกำหนดเวลาและงบประมาณ ตลอดระยะเวลาดำเนินการ โครงการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรในประเทศ (localization) การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

LATEST NEWS