พพ.เดินหน้าพลังงานสะอาดเพิ่ม 36% ปี 2580 ในแผน AEDP2024 ลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงาน 7,000 อัตรา เกิดการลงทุนไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท นำประเทศบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality เผยพลังงานทดแทนมีศักยภาพผลิตไฟฟ้ากว่า 2 แสนเมกะวัตต์ “แสงอาทิตย์” มากที่สุด 1.9 แสนเมกะวัตต์ ตามมาด้วย “พลังงานลม” 7 พันเมะกวัตต์ ส่วนแผน EEP2024 ลดความเข้มการใช้พลังงาน 36%
วันนี้ (18 มิถุนายน 2567) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567 – 2580 (AEDP2024) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2567-2580 (EEP2024) โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้ที่สนใจได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น ที่รงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ และผ่านระบบออนไลน์ โดยร่างแผน AEDP2024 และ EEP2024 เป็นไปตามนโยบายแผนพลังงานชาติ ผ่านการสนับสนุนส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดี พพ. กล่าวว่า ร่างแผน AEDP2024 ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกตามศักยภาพที่มีอยู่ในประเทศด้วยเทคโนโลยีและราคาที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการพิจารณาถึงความสอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งใช้พลังงานสะอาด และการบรรลุสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ โดย AEDP ฉบับนี้ กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 36%ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ปี 2580 โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน อาทิ ส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนด้วยมาตรการทางภาษี ส่งเสริมการบริหารจัดการ จัดเก็บ และรวบรวมเชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทนอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการแปรรูปเชื้อเพลิงทดแทนเพื่อเป็นเชื้อเพลิงหลักหรือเชื้อเพลิงร่วม ส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานรูปแบบใหม่ ได้แก่ เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน(SAF) ส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว เป็นต้น
การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ตาม AEDP 2024 นี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ 20,000 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) เทียบเท่ามูลค่าการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ไม่น้อยกว่า 400,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 7,000 อัตรา เกิดมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท สร้างรายได้ทางการเกษตรจากการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพได้ไม่น้อยกว่า 41,000 ล้านบาท/ปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในภาคพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 75 Mt-CO2 (ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ในปี พ.ศ. 2580 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2565
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 36% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ภายในปี 2580 ได้วางเป้าหมายการผลิตไฟฟ้า 73,286 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 38,974 เมกะวัตต์,พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ 2,789 เมกะวัตต์,พลังงานลม 9,379 เมกะวัตต์,ชีวมวล 5,490 เมกะวัตต์,ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 925 เมกะวัตต์,ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) 757 เมกะวัตต์, ขยะชุมชน 1,142 เมกะวัตต์, ขยะอุตสาหกรรม 249 เมกะวัตต์, พลังน้ำขนาดเล็ก 347 เมกะวัตต์,พลังน้ำขนาดใหญ่ 2,918 เมกะวัตต์,ความร้อนใต้พิภพ 21 เมกะวัตต์,ไฮโดรเจน ,พลังน้ำนำเข้า 10,295 เมกะวัตต์ ส่งผลให้สัดส่วนไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่อความต้องการไฟฟ้า อยู่ที่ 61%
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจที่ พพ. ได้ประเมินศักยภาพพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่สามารถพัฒนาเป็นพลังงานได้ปรากฎว่า เป็นพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด 198,080 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นที่ดิน 184,178 เมกะวัตต์,พลังงานแสงอาทิตย์แลลติดตั้งบนหลังคา 3,223 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ 10,489 เมกะวัตต์,พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับความร้อน 200 เมกะวัตต์ ส่วนพลังงานลม 7,837 เมกะวัตต์,พลังน้ำขนาดเล็ก 177 เมกะวัตต์,ชีวมวล จากเศษวัสดุเหลือ 12,617 เมกะวัตต์,ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 634 เมกะวัตต์,ขยะชุมชน 700 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 445 เมกะวัตต์ รวมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่สามารถพัฒนาเป็นพลังงานได้รวมทั้งสิ้น 220,500 เมกะวัตต์
ทางด้านร่างแผน EEP2024 ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากแผน EEP2018 โดยปรับเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานลดความเข้มการใช้พลังงาน Energy Intensity เป็น 36% ในปี พ.ศ.2580 หรือคิดเป็นพลังงานที่คาดว่าจะลดได้ 35,497 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) คิดเป็นมูลค่า 532,455 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 106 Mt-CO2 (ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)
โดยได้กำหนดมาตรการที่สำคัญไว้อย่างรอบด้านและครอบคลุมทุกภาคส่วน ได้แก่ การกำกับดูแลตามกฎหมายโรงงาน/อาคารควบคุม เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code) การส่งเสริมมาตรฐานอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและฉลากเบอร์ 5 การส่งเสริมบ้านประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์พลังงานในภาคเกษตรกรรม Smart Farming และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคขนส่ง พร้อมทั้งมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตไฟฟ้า ระบบโครงข่ายไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
สำหรับร่างแผน AEDP2024 และ EEP2024 หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว พพ. จะได้รวบรวมข้อเสนอแนะและข้อมูลอันเป็นประโยชน์เพื่อจัดทำร่างแผนทั้งสองฉบับให้สมบูรณ์และทุกภาคส่วนให้การยอมรับ และสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ทาง QR code ลงทะเบียนและช่องทางออนไลน์ของ พพ. ได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ก่อนนำเสนอภาครัฐพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนต่อไป