กฟผ. สพฐ. และพันธมิตร จับมือผลักดันการเรียนรู้นอกห้องเรียน ร่วมสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ในฝัน หวังพัฒนาการศึกษาเด็กไทยสู่สากล ด้วยประสบการณ์ตรงผ่านชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ และพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และนางสาวรัชดาพร เสียงเสนาะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ กฟผ. ร่วมเปิดโครงการ “สร้างสรรค์ พัฒนาแหล่งเรียนรู้ในฝัน” เพื่อร่วมหาแนวทางพัฒนาแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของเยาวชน ส่งเสริมแนวคิดการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนาสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน พร้อมจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้กับครูและนักเรียนในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าและสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัย มุ่งต่อยอดสู่การพัฒนากระบวนการเรียนการสอนต่อไป ณ โรงแรมเบลล่า บี อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2567
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการ กฟผ. กล่าวว่า การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด Long Live Learning โลกออนไลน์ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ง่าย อยู่ที่ไหนก็เรียนรู้ได้ และการเรียนรู้ที่ครบทุกมิติต้องอาศัยความร่วมมือและบูรณาการกับทุกภาคส่วนในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดย กฟผ. มีศูนย์การเรียนรู้ 8 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ส่วน สพฐ. ก็มีครู นักเรียน และชุมชน หากมีการบูรณาการกันจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ทรงคุณค่ามากมาย ในขณะเดียวกันต้องรับฟังเสียงของผู้เข้าชมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และชุมชนว่ามีความต้องการอย่างไร ทั้งนี้ ต้องไม่ละทิ้งประสบการณ์หรือภูมิปัญญา และงานฝีมือของคนรุ่นเก่า ดังนั้นการเชื่อมโยงทุกมิติเข้าด้วยกันจะทำให้ประชาชนได้รับองค์ความรู้ครบถ้วนรอบด้าน และใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งเป็นการสร้างสัมพันธ์ในครอบครัวได้อีกด้วย
ด้าน ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. กล่าวว่า การเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ดียิ่งขึ้นคือการเรียนรู้นอกห้องเรียน ช่วยเสริมประสบการณ์ตรงให้กับเยาวชน เริ่มต้นจากการเชื่อมโยงชุมชนที่เราอยู่ และที่กว้างไปกว่านั้นคือการหาความรู้จากโลกออนไลน์ ซึ่งสามารถค้นหาความรู้ได้จากทุกมุมโลก นอกจากนี้ยังมีแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ในประเทศอีกมาก ทั้งศูนย์การเรียนรู้ของ กฟผ. พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงในส่วนของ สพฐ. ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขต ได้ทำรายการเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ในชุมชนในเขตพื้นที่นั้น ๆ ดังนั้นนักเรียนหรือครูก็สามารถเข้าไปเรียนรู้ได้
นางสาวรัชดาพร เสียงเสนาะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ กฟผ. กล่าว่า กฟผ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองและส่งเสริมกระบวนการศึกษาของประเทศ กฟผ. มีศูนย์การเรียนรู้กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ รวม 8 แห่งประกอบด้วย 1. ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ผาบ่อง จ.แม่ฮ่องสอน 2. ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. แม่ออน จ.เชียงใหม่ 3. พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา (เหมืองแม่เมาะ) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว จ.ลำปาง 4. ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จ.นครราชสีมา 5. ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี 6. ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี 7. ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ 8. ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จะนะ จ.สงขลา พร้อมทั้งร่วมมือกับทางองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (OKMD) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าและสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินภารกิจของ กฟผ. สามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนได้อย่างสนุกสนานและจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และมี สพฐ. นำครูและนักเรียนมาช่วยเสนอแนวคิดเรื่องแหล่งเรียนรู้ให้ตรงตามความต้องการของหลักสูตรการศึกษา จะทำให้ทั้งสถาบันการศึกษาและประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้ได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วยงานเสวนา “Spark Your Dream จุดประกายสร้างฝัน เติมพลังการเรียนรู้” และ “Create Meaningful Learning @ EGAT Learning Center สร้างสรรค์ พัฒนาแหล่งเรียนรู้ในฝัน” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมเวทีเสวนาอย่างคับคั่ง ในโอกาสนี้ คณะครูและนักเรียนได้เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการพลังงานไฟฟ้าสุดล้ำสมัย เพื่อให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน รวมทั้งการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง เปลี่ยนบรรยากาศของกระบวนการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนตื่นตัว สนใจ สนุกสนานมากยิ่งขึ้น ปิดท้ายด้วยกิจกรรม Workshop “Create Meaningful Learning @ EGAT Learning Center” โดยร่วมกันออกแบบแหล่งเรียนรู้ในฝันที่โดนใจทั้งคุณครูและนักเรียน ตอบสนองต่อความต้องการด้านการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ของ กฟผ. ให้เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ ให้ทุกคนได้รับบริการทางการศึกษาอย่างทั่วถึงเท่าเทียม และยังได้ศึกษาดูงาน โรงไฟฟ้าวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา แหล่งผลิตไฟฟ้าที่สำคัญของ กฟผ. อีกด้วย