Thursday, 19 September 2024 - 11:40 pm
spot_img
Thursday, 19 September 2024 - 23:40
spot_img

ลุ้นต่อค่าไฟฟ้าปี 2568 หลัง กกพ. เคาะงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. ตรึงราคาเอาไว้ 4.18 บาทต่อหน่วย

กกพ. มีมติตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย งวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 67 ส่องกล้องทิศทางปี 2568 ค่าไฟฟ้างวดแรกมีข่าวดีราคา LNG ในตลาดโลกลดลง ปัจจัยชี้ขาดอยู่ที่การชำระหนี้คืน กฟผ. และปตท.

วันนี้ (1 สิงหาคม 2567) ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ครั้งที่ 31/2567 เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม 2567 ได้พิจารณาเห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดประจำเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 อยู่ที่  39.72 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่เท่าเดิม 4.18 บาทต่อหน่วย หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะจาก 3 ทางเลือก ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 กรณีจะต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย หรือปรับขึ้น 43.79%  โดยแนวทางนี้จะมีการชำระหนี้คงค้างคืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งหมด หรือที่เรียกว่า “เจ็บแต่จบ” จำนวน 95,000 ล้านบาท และทยอยชำระคืนหนี้คงค้างค่า AFGas หรือภาระต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่คงค้างเป็นจำนวนเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นของ ปตท.ประมาณ 12,000 ล้านบาท และ กฟผ.ประมาณ 3,000 ล้านบาท

ทางเลือกที่ 2 กรณีจะต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย หรือปรับขึ้น 17.73% โดยจะมีการทยอยชำระคืนหนี้คงค้างให้กับ กฟผ. จำนวน 32,832 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 งวดจากทั้งหวด 95,000 ล้านบาท และทยอยชำระคืนหนี้ค่า AFGas   ให้กับปตท.และ กฟผ.อีกเป็นเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท

ทางเลือกที่ 3 กรณีการปรับค่าไฟฟ้ามาอยู่ที่  4.18 บาทต่อหน่วยเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย หรือปรับขึ้น 11.24% โดยทยอยชำระหนี้คงค้างให้กับ กฟผ. จำนวน 16,416 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 6 งวด จากทั้งหมด 95,000 ล้านบาทและชำระคืนหนี้คงค้างค่า AFGas ให้กับ ปตท. และ กฟผ. เป็นเงินจำนวนประมาณ 15,000 ล้านบาท

จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นฯ พบว่า มีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวน 146 ราย แบ่งเป็นผู้ที่มีความเห็นให้ลดค่าไฟฟ้า และไม่เห็นด้วยกับกาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในครั้งมีสัดส่วนอยู่ที่ 26.03% รองลงมาเป็นผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางที่ 3 มีสัดส่วน 19.18%  ผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางที่ 1 มีสัดส่วนอยู่ที่ 13.01%  และมีผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางที่ 2 มีสัดส่วนอยู่ที่  4.79% ขณะเดียวกันยังมีผู้แสดงความคิดเห็นอื่นๆ อีกมีสัดส่วนอยู่ที่  26.71%

ขณะเดียวกันนายพีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีนโยบายลดภาระค่าครองชีพค่าไฟฟ้าให้กับของประชาชน ซึ่งได้หารือกับผู้บริหารของ ปตท.และ กฟผ. ได้สรุปแนวทางการตรึงค่าไฟฟ้าเอาไว้เท่าเดิมที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ซึ่งการเลือกแนวทางนี้ไม่ต้องทยอยชำระหนี้คงค้างคืนให้กับ กฟผ. จากทั้งหมด 95,000 ล้านบาท ในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 โดย กฟผ. จะได้รับคืนหนี้ค้างจ่ายจำนวน 5 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็น จำนวน 3,267 ล้านบาท พร้อมกับชะลอการชำระหนี้คงค้างค่า AFGas  เป็นจำนวน  15,000 ล้านบาท ในงวด กันยายน-ธันวาคม 2567ออกไป เช่นเดียวกัน

ดร.พูลพัฒน์ กล่าวด้วยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าในงวดแรกของปี 2568 ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน มีทิศทางในการบริหารจัดการที่ง่ายขึ้น เพราะแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในช่วงดังกล่าวลดลงหลังผ่านช่วงฤดูหนาวในช่วงปลายปี 2567 ที่ราคาเชื้อเพลิงจะสูงขึ้น

“ผมคิดว่าช่วงปลายปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวที่ทางกลุ่มสหภาพยุโรปใช้เชื้อเพลิงเยอะ ทำให้แนวโน้มการปรับตัวของเชื้อเพลิงมีทิศทางที่สูงขึ้น แต่หลังจากนั้นตั้งแต่สิ้นเดือนธันวาคม เป็นต้นไป เมื่อมีการใช้ LNG ลดน้อยลงจะส่งผลให้ราคาลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการนวณค่าไฟฟ้าในงวดต่อไป หวังว่าจะได้มีโอกาสเห็นค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มทรงตัวหรือถูกลงในอนาคต” โฆษก กกพ. กล่าวทิ้งท้าย

LATEST NEWS