วันนี้ (8 สิงหาคม 2567) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะ อาทิ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.ธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ดร.ธนพล บุญวรุตม์ ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี รศ.ดร.มณฑล แก่นมณี ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี และ นายวุฒิศักดิ์ รัตนสุวรรณ ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางลงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เพื่อติดตามความก้าวหน้า โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ณ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน ถึงความพร้อมในการเตรียมปัจจัยรองรับและส่งเสริมระบบนิเวศการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างโอกาสขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลสู่พื้นที่อีอีซี ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง
โดยรองนายกรัฐมนตรี และคณะ ได้ติดตามความก้าวหน้าพร้อมร่วมรับฟังการบรรยายสรุปโครงการ EECd และ โครงการ EECi ซึ่งเป็นโครงการภายใต้เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อีอีซี เพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมด้านดิจิทัล และศูนย์กลางนวัตกรรมเชื่อมโยงการวิจัยและการลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นการสร้างโอกาสสำคัญ เพื่อเสริมสร้างความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทย นอกจากนี้ คณะฯ รองนายกรัฐมนตรี ยังได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม (Assembly Ingegration and Testing : AIT) ที่แสดงถึงความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ ที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูงในอนาคตต่อไป
สำหรับเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ EECd ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางพัฒนาธุรกิจ และอุตสาหกรรมดิจิทัลในพื้นที่อีอีซี สนับสนุนให้เกิดการลงทุน พัฒนาบุคลากร และความรู้ด้านดิจิทัลให้กับประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยขณะนี้มีนักลงทุน ที่ได้เตรียมการลงทุนในพื้นที่ EECd ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ บริษัท CtrlS ซึ่งเป็นบริษัท Data Center ระดับโลกจากประเทศอินเดีย ในการประกอบกิจการ Data Center ขนาด 150 เมกะวัตต์ ในพื้นที่โครงการ EECd พร้อมให้บริการ Cloud Service โดยมีมูลค่าการลงทุนโครงการรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท เช่าพื้นที่จำนวน 25 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี สร้างรายได้แก่ สกอ. มูลค่าทั้งหมดประมาณ 1.31 พันล้านบาท สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานกว่า 1,000 อัตรา
นอกจากนี้บริษัทฯ มีแผนในการสนับสนุนระบบ Cloud Service ในพื้นที่ และจัดเทรนนิ่งให้ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรชาวไทยได้เรียนรู้ เพื่อเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับกรมธุรกิจพลังงาน จัดตั้งศูนย์อัดประจุไฟฟ้าต้นแบบระดับประเทศ (EV Charging Station) โดยเช่าพื้นที่จำนวน 5 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี เพื่อเป็นต้นแบบให้ศูนย์อัดประจุไฟฟ้าทั่วประเทศทั้งที่ดำเนินการแล้วในปัจจุบัน และที่กำลังจะก่อสร้างในอนาคต