Thursday, 19 September 2024 - 11:39 pm
spot_img
Thursday, 19 September 2024 - 23:39
spot_img

“กรมเจ้าท่า” ปักหมุดประมูลท่าเรือสำราญเกาะสมุย กว่า 1.2 หมื่นล้านในปี 68 พร้อมเร่งยกระดับท่าเรือ-การบริการ-ความปลอดภัยทางน้ำสู่ระดับมาตรฐานสากล

กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอ ครม.ไฟเขียวแผนลงทุนพัฒนาท่าเรือสำราญเกาะสมุย (Cruise Terminal) ในรูปแบบ PPP มูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ช่วง ต.คพ.ย.67 ลุยประมูลปี 68 เปิดบริการปี 75 มุ่งเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กรมเจ้าท่า พร้อมประกาศลุยแผนพัฒนาคมนาคมทางน้ำ ในโอกาสครบรอบ 165 ปี สู่ก้าวย่าง 166 ปี มุ่งเน้นยกระดับท่่าเรือโดยสาร-การบริการ-ความปลอดภัย สู่มาตรฐานสากล

ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานงานวันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่าครบรอบ 165 ปี ถึงความคืบหน้าของ โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญ (Cruise Terminal) บริเวณแหลมหินคม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ให้ความเห็นชอบในส่วนของรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) และส่งรายละเอียดไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้ว เพื่อเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ภายในเดือน ส.ค. นี้ และคาดว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบได้ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2567 จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ต่อไป

ดร.มนพร กล่าวอีกว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะช่วยยกระดับการคมนาคมขนส่งทางน้ำ รองรับการท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล แล้วยังจะสร้างรายได้ให้แก่กรมเจ้าท่าจากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ด้วย ซึ่งในเบื้องต้น มีเอกชนหลายรายทั้งในและต่างประเทศที่แสดงความสนใจ อาทิ กลุ่มนักธุรกิจใน จ.ภูเก็ต และสมุย ผู้ประกอบการท่าเรือ ผู้ประกอบการสายเดินเรือจากประเทศญี่ปุ่น

ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า คาดว่าจะออกประกาศเปิดประมูลได้ประมาณเดือน ก.ค. 2568 ลงนามสัญญาจ้างกับเอกชนประมาณเดือน ม.ค. 2570 และคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างประมาณเดือน ม.ค. 2572 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการได้ภายในเดือน ม.ค. 2575

โครงการนี้ จะมีที่ตั้งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะสมุย บริเวณแหลมหินคม ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีพื้นที่รวม 47-38-6 ไร่ ภายในโครงการประกอบด้วย อาคารผู้โดยสาร พื้นที่อย่างน้อย 7,200 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 1,200 คนต่อชั่วโมง, ท่าเรือสำราญ ที่จะรองรับเรือสำราญได้พร้อมกัน 2 ลำ ได้แก่ เรือสำราญขนาดใหญ่ 4,000 คน เรือสำราญขนาดกลาง 2,500 คน และรองรับเรือยอร์ชได้สูงสุด 80 ลำ เรือเฟอร์รี่สูงสุด 6 ลำ โดยท่าเรือจะมีขนาดความยาวหน้าท่า 362 เมตร ความลึกร่องน้ำ 12 เมตร อาคารผู้โดยสารบรรจุได้ 3,600 คน มูลค่าการลงทุนรวมค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาโครงการ 12,172 ล้านบาท

นอกจากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยังได้กล่าวถึงภารกิจสำคัญของกรรมเจ้าท่า ในโอกาสวันครอบรอบสถาปนา 165 ปี เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2567 ด้วยว่า กรมเจ้าท่าถือเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งมายาวนานที่สุดในกระทรวงคมนาคม และมีภารกิจครอบคลุมหลายด้าน ทั้งการพัฒนาศักยภาพการขนส่งทางน้ำ การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของการคมนาคมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี การพัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ การผลิตบุคลากรด้านพาณิชยนาวีให้มีคุณภาพ รวมทั้งการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางน้ำและชายฝั่งทะเล

ในโอกาสครบรอบ 165 ปี ก้าวย่างสู่ปี 166 กรมเจ้าท่ายังคงมุ่งเน้นที่จะพัฒนาและยกระดับการคมนาคมขนส่งทางน้ำของประเทศสู่มาตราฐานสากล โดยจะพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยาเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้เป็นสถานีเรือ หรือท่าเรือโดยสารอัจฉริยะ (Smart Pier) ให้ครบ 29 แห่งตามแผน และปรับปรุงศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ ติดตั้ง CCTV ปรับปรุงห้องน้ำและไฟฟ้าแสงสว่าง เพิ่มความสะดวกและปลอดภัยบริเวณท่าเรือโดยสาร พัฒนาท่าเรือให้เป็นจุดท่องเที่ยว เช่น ท่าเรือท่าเตียน ที่เป็นจุดเช็คอินมีไฮไลต์คือวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร รวมถึงนำร่องติดตั้งประตูเปิด-ปิดที่ท่าเรือสาทร ส่วนปี 2568 กรมเจ้าท่าได้รับงบประมาณเพิ่มเติมจากปี 2567 ประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นด้านความปลอดภัยเป็นหลัก

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้ปรับปรุงและพัฒนาการปฏิบัติภารกิจร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้การพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางน้ำไม่เป็นเพียงการส่งเสริมการเดินทางและการขนส่งสินค้าทางน้ำ แต่ยังช่วย สนับสนุนในมิติด้านสิ่งแวดล้อม การป้องกันภัยแล้งและอุทกภัย การส่งเสริมการท่องเที่ยว การเพิ่มรายได้และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน ด้วยการเป็นองค์กรที่พร้อมด้วยความทันสมัยได้มาตรฐาน ผสานความยั่งยืน ซึ่งกรมเจ้าท่า ได้นำนโยบายของกระทรวงคมนาคม ภายใต้โครงการ “ราชรถยิ้ม” ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ขยายผลสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการถ่ายทอดนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมสู่การปฏิบัติ อันจะช่วยยกระดับ ภาคการคมนาคมขนส่งทางน้ำของประเทศให้เกิดความสะดวก ประหยัด ปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และครอบคลุมทุกความต้องการของประชาชน สมดังคำว่า “คมนาคมทางน้ำ เพื่อความอุดมสุขของประชาชน”

อนึ่ง กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ได้จัดงานวันสถาปนาครบรอบ 165 ปี เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงวางรากฐานการคมนาคมทางน้ำที่มั่นคง โดยมี ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรสมาชิกสวัสดิการกรมเจ้าท่า และมอบโล่ยกย่องเชิดชูเกียรติคุณรางวัลคนต้นแบบ และหน่วยงานต้นแบบให้แก่กรมเจ้าท่า พร้อมด้วยนายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านการขนส่ง) นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านอำนวยการ) หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง และผู้ประกอบการขนส่งทางน้ำ ร่วมแสดงความยินดี และมีนายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า คณะผู้บริหาร บุคลากร และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธีฯ ณ กรมเจ้าท่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค.67

LATEST NEWS