Sunday, 10 November 2024 - 6:12 am
spot_img
Sunday, 10 November 2024 - 06:12
spot_img

สมาคมประกันวินาศภัยไทย เผยกรมธรรม์คุ้มครองประกันภัยนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยเสนอครม.พิจารณาเดือนก.ค. นี้

            สมาคมประกันวินาศภัยไทย เผยกรมธรรม์คุ้มครองประกันภัยนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยเสนอครม.พิจารณาเดือนก.ค. นี้ เดินเครื่องหนุนให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของภาคธุรกิจและการมุ่งสู่การเปิดเสรีในบางมิติจัดทํากรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี 67 โดยผลักดันให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการทําประกันภัยพืชผล

            ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า สมาคมประกันวินาศภัยไทย สนับสนุนให้เกิดศูนย์กลางข้อมูลและการใช้ข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประชาชน สนับสนุนแนวคิดและผลักดันให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของภาคธุรกิจและการมุ่งสู่การเปิดเสรีในบางมิติ และการผลักดันให้ภาครัฐมีมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการทำประกันวินาศภัยในทุกระดับและทุกมิติเพื่อช่วยในการบริหารความเสี่ยงและแบ่งเบาภาระของรัฐบาล  ได้แก่ โครงการประกันภัยพืชผล ปีการผลิต 2567/68โดยสมาคมฯ ได้จัดทํากรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี (ขั้นตอนอยู่ระหว่างการดำเนินการ) ปีการผลิต 2567 และยื่นขอรับความเห็นแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัย ไปยังนายทะเบียน สํานักงาน คปภ. ซึ่งได้นําเสนอรูปแบบการประกันภัยที่ได้ประโยชน์สูงสุดและเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม รวมถึงเพื่อเป็นการสนองนโยบายของภาครัฐ ในการส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการทําประกันภัยพืชผล

โครงการประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย จากนโยบายการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ Thailand Traveller Fee (TTF) หรือที่เรียกว่า ค่าเหยียบแผ่นดินโดยสมาคมฯ ได้นําเสนอความคุ้มครองประกันภัยนักท่องเที่ยวต่างชาติฯ ไม่น้อยกว่ากองทุนเยียวยานักท่องเที่ยวที่ได้มีการยกเลิกไปแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจะสรุปและนําเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือนกรกฎาคม 2567 นี้

 โครงการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก โดยคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ ซึ่งได้ติดตามการนำส่งข้อมูลจากบริษัทประกันวินาศภัยเพื่อนำส่งข้อมูลเข้าระบบการรายงานข้อมูลการรับประกันภัยรถภาคบังคับ CMIS แบบเรียลไทม์อย่างใกล้ชิดเพื่อรองรับการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการรับประกันภัย พ.ร.บ. โดยกรมการขนส่งทางบกได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้การตรวจสอบข้อมูลผู้ประสบภัยจากรถและข้อมูลการทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

 การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยด้วยการใช้ระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระบบประกันภัยพืชผล ระหว่าง กรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยการนำเทคโนโลยีดาวเทียม ระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และระบบ AI & Machine Learning มาใช้ในการประกันภัยพืชผล โดยการวิเคราะห์ข้อมูลและตรวจสอบความเสียหายเพื่อดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในโครงการประกันภัยพืชผล ซึ่งได้เริ่มนำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ นครศรีธรรมราช ร้อยเอ็ด สุโขทัย และได้มีการขยายพื้นที่การทดสอบเพิ่มเป็น 16 จังหวัด

โครงการ Utilization of Insurance Bureau System Data เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลกลางประกันภัย (Insurance Bureau System: IBS)ในการพัฒนาระบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยและการให้บริการลูกค้า รวมถึงประชาชนในหลากหลายมิติ โดยผลักดันให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล IBS เพื่อนําข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ภาพรวมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันวินาศภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่ง สมาคมฯ และ สํานักงาน คปภ. ได้ร่วมกันจัดงาน Kickoff การใช้ข้อมูลจากระบบ Non-Life IBS และพร้อมส่งมอบรายงานให้กลับบริษัทสมาชิก

ดร.สมพร กล่าวด้วยว่า สมาคมฯ ยังได้เตรียมความพร้อมในการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 (TFRS17) ผลกระทบทางด้านภาษีอากรจากมาตรฐาน TFRS 17 ของธุรกิจประกันวินาศภัยให้กับบริษัทสมาชิก และผลักดันการพัฒนาระบบการจัดการฉ้อฉลและแก้ไขปัญหาการฉ้อฉลประกันกัยของธุรกิจประกันวินาศภัย จัดทำโครงการพัฒนาระบบแผนที่และแบบจำลองการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำท่วม แผ่นดินไหว รวมถึงจัดทำระบบศูนย์กลางตรวจสอบเพื่อป้องกันการฉ้อฉลประกันภัยสุขภาพ พร้อมศึกษาพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ กรมธรรม์ประกันภัยรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (BEV) และจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยชดเชยผลประโยชน์จากอุบัติเหตุหรือการใช้รถยนต์ (Motor Add on) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และการสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัย

นอกจากนี้ สมาคมฯ ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการบริหารฯ ประจําปี 2566-2568 ได้ร่วมกันขับเคลื่อนแผน Quick Win ตามทิศทางของแผนยุทธศาสตร์สมาคมฯ ซึ่งเห็นผลก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมตามที่กําหนด ทั้งการควบรวมสํานักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (Insurance Premium Rating Bureau: IPRB) และบริษัท ไทยอินชัวเรอส์ดาต้าเนท จํากัด (Thai Insurers Datanet Co., Ltd.: TID) เป็นบริษัทวิจัยและพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยไทย จํากัด หรือ TIRD การผลักดันให้เกิดการกํากับดูแลกันเองของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยและการเปิดเสรีธุรกิจประกันวินาศภัยในบางมิติ การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันวินาศภัย (Regulatory Guillotine) กับ สํานักงาน คปภ. การควบคุมค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลของการประกันภัยสุขภาพ และศึกษามาตรการเพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษี รวมถึงการจัดตั้งคณะแพทย์ที่ปรึกษาให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยไทย และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยในเชิงรุก

 “ตลอด 1 ปี ในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัย สมาคมฯ มุ่งมั่นเดินหน้าสร้างผลงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ โดยมีคณะกรรมการประกันภัยสาขาต่าง ๆ รวม 8 สาขา ที่ร่วมกันดําเนินการส่งเสริมผลักดันมาตรการต่าง ๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งบริษัทสมาชิก ประชาชน สังคม หน่วยงานกํากับดูแล หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยผลในการดําเนินงานที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นแนวทางและเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงชะตา โอกาส และเป้าหมายในการก้าวไปสู่การเติบโตก้าวหน้าของธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งสมาคมฯ ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคงต่อไป” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวทิ้งท้าย

LATEST NEWS