Thursday, 19 September 2024 - 11:10 pm
spot_img
Thursday, 19 September 2024 - 23:10
spot_img

ต้นแบบ “ชุมชนเกษตรผักไหม” จ.ศรีสะเกษ ปลูกข้าวเกษตรอินทร์ใช้สมาร์ทฟาร์มมิ่งโมเดล นำโซลาร์เซลล์สูบน้ำ ลดรายจ่ายสร้างรายได้ให้ชุมชน

กระทรวงพลังงาน ชูต้นแบบ “ชุมชนเกษตรผักไหม” จ.ศรีสะเกษ  ปลูกข้าวเกษตรอินทร์ใช้สมาร์ทฟาร์มมิ่งโมเดล นำระบบโซลาร์เซลล์สูบน้ำจากธนาคารน้ำใต้ดินปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ปีละเกือบ 1 แสนบาท และยังต่อยอดช่วยให้มีน้ำปลูกพืชหลังนา นำไปแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ “ข้าวอินทรีย์-แครกเกอร์ข้าวหอมมะลิ-แยมกระเจี๊ยบ”สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกร 120,000 ต่อคน

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 นายยงยุทธ ห่อทอง พลังงานจังหวัดศรีสะเกษ ได้นำคณะสื่อมวลชนติดตามโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร (บ่อบาดาล) แบบตั้งพื้น ที่วิสาหกิจกลุ่มแปรรูปข้าวตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ โดยนายยงยุทธ เปิดเผยว่า จังหวัดศรีสะเกษมีศักยภาพด้านพลังงานหลายประเภท โดยเฉพาะพลังงานจากชีวภาพ ชีวมวลเพราะมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรสามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลได้ในอนาคต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแผนการส่งเสริมพลังานชีวมวล นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เพราะนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ผ่านการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจในชุมชน สร้างรายได้และพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานให้ความสำคัญในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในระดับชุมชนทั้งในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ที่สายส่งยังเข้าไม่ถึง อย่างเช่นแปลงเกษตรที่ตำบลผักไหมส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ระบบไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง จึงได้ส่งเสริมให้ชุมชนได้นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นโครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร (บ่อบาดาล) แบบตั้งพื้น ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ปี 2561-2565 จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยติดตั้งระบบสูบน้ำฯ นาด 2,500 วัตต์ ให้กับตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 7 จุด วงเงิน 3,029,000 บาท เพื่อสูบน้ำจากบ่อบาดาล มาเก็บในแทงค์ขนาด 25,000 ลิตร หรือ 50,000 ลบ.ม  และนำมาใช้ในแปลงเกษตรของชุมชนและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีครัวเรือนได้รับประโยชน์กว่า 71 ครัวเรือน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าได้เกือบ 1 แสนบาท ต่อปี และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 8,155.22 kgCo2 / ปี อีกด้วย

“จากการลงพื้นที่ติดตามโครงการฯในครั้งนี้จะเห็นว่า การติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ 7 จุด ให้กับชุมชนเกษตรผักไหม เป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้วยังสนับสนุนให้เกิดผลิตภัณฑ์จากชุมชนหลายอย่างเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นน้ำกระเจี๊ยบที่ทางชุมชนได้ผลผลิตจากการปลูกกระเจี๊ยบแดงในพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ รวมถึงมีการปลูกถั่วเหลือง มีการส่งออกไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นอย่างดี ทำให้มีชีวิตเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

ด้านนางจันทรา หาญสุทธิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม กล่าวว่า พื้นที่แปลงเกษตรในตำบลผักไหม ส่วนใหญ่ไม่มีไฟฟ้าใช้ กลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดความเสียหายทางผลผลิต ทำให้คนในชุมชนคิดที่จะพัฒนาพื้นที่นา ที่สวน ให้มีรายได้ สร้างงานสร้างอาชีพ จึงได้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพให้คนในชุมชนมีความมั่นคง และยั่งยืน และการได้รับการสนับสนุนระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการสูบน้ำจากธนาคารน้ำใต้ดิน แล้วปล่อยกระจายด้วยระบบท่อ ไปใช้ในฟาร์มและแปลงเกษตรกร สามารถช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตรในช่วงน้ำแล้งได้เป็นอย่างดี ทำให้ดินมีความชุ่มชื้น พืชผลอุดมสมบูรณ์ได้ตลอดปี และยังช่วยเกษตรกรลดภาระค่าน้ำมันที่ใช้สำหรับสูบน้ำจากระบบเดิมได้อีกด้วย

ปัจจุบันมีการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปข้าวตำบลผักไหม ขายเมล็ดพันธุ์ข้าว และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขฯ พร้อมกับพัฒนาสู่การเพิ่มมูลค่า ทำข้าวอินทรีย์ ขณะเดียวกันก็ได้นำเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมาปรับใช้ในพื้นที่ จนล่าสุดได้พัฒนาเป็นผักไหมฟาร์ม กลุ่มต้นแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่งโมเดลของภาคอีสาน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีการทำเกษตรที่สามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจด้วย

“เป้าหมายของชุมชนเกษตรผักไหมจะเพิ่มกำลังการผลิตถั่วเหลืองให้ได้มากที่สุด เพื่อส่งออกสินค้าที่ตลาดโลกมีความต้องการสูงมาก รวมถึงการเร่งผลิตผงผักไหมจากตอนนี้ 7 ตัน ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งได้ทำแผนจะผลิตให้ได้ตามเป้าหมาย 100 ตัน”

ส่วนนายไพฑูรย์ ฝางคำ ตัวแทนวิสาหกิจกลุ่มแปรรูปข้าวตำบลผักไหม เปิดเผยว่า ผักไหมฟาร์ม เป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ใช้นวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืน เป็นการทำฟาร์ม หรือทำแปลงเรียนรู้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องของน้ำแล้ง เป็นการเอาภูมิปัญญา บวกกับนวัตกรรมสมัยใหม่ รวมถึงเทคโนโลยีพลังงานซึ่งกระทรวงพลังงานได้เข้ามาแนะนำให้ความรู้ เอามาปรับประยุกต์ใช้และขยายผลต่อ เพื่อพัฒนาการเกษตรตามแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ บนพื้นที่ 5 ไร่ แบ่งเป็น โซนนาข้าวและพืชหมุนเวียน โซนพืชผักอายุสั้นโซนสระน้ำเพื่อการเกษตร โซนพืชผสมผสานที่เน้นการปลูกพืชหลากหลาย โซนโซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตรเป็นการนำโซลาร์เซลล์ มาใช้เพื่อลดต้นทุนของค่าไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงในระบบสูบน้ำ เพื่อใช้ในการดึงน้ำจากธนาคารน้ำใต้ดิน มากักเก็บในถังพักน้ำขนาด 50,000 ลบ.ม. เพื่อบริหารจัดการในฟาร์มสำหรับใช้ในฤดูแล้ง ตลอดจนเป็นการส่งเสริมและรักษาระบบนิเวศในฟาร์ม มุ่งสู่การเป็นพลังงานสะอาด และโซนแปรรูปผลิตภัณฑ์  เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชนด้วย

“ชุมชนเกษตรผักไหมปลูกข้าวอินทรีย์ และปลูกพืชหลังเกี่ยวข้าวในนาเสร็จ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว กระเจี๊ยบแดง ทำให้มีอาชีพ มีรายได้เพิ่มจากการนำผลผลิตไปแปรรูปไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าว ข้าวสารหอมมะลิ 100% แยมกระเจี๊ยบ แคร็กเกอร์ข้าวหอมมะลิ ตอนนี้สามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 120,000 บาท ต่อคนต่อปี ช่วยให้เกษตรกรลดภาระหนี้สินลง และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ” นายไพฑูรย์ กล่าวทิ้งท้าย

LATEST NEWS