การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนวิศวกรรมรถไฟที่สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2566 รุ่นที่ 63 จำนวน 127 คน โดยมีนายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการรถไฟฯ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการรถไฟฯ ผู้บริหารการรถไฟฯ คณะครูอาจารย์เข้าร่วมพิธี ณ สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟ ฯ เปิดเผยว่า การจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนวิศวกรรมรถไฟ รุ่นที่ 63 เนื่องในโอกาสที่สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2566 เพื่อเป็นการแสดงความยินดี สร้างความภาคภูมิใจในความสำเร็จ เสริมสร้างขวัญ กำลังใจให้กับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษา และเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรักความผูกพันที่นักเรียนมีต่อการรถไฟฯ รวมถึง โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟในฐานะที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ ให้ประสบการณ์ทั้งในและนอกห้องเรียน เพิ่มทักษะการดำเนินชีวิต ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม เพื่อให้นักเรียนเป็นคนดี เป็นคนเก่ง และสามารถนำเอาความรู้มาพัฒนากิจการรถไฟ และประเทศชาติต่อไปได้ในอนาคต
สำหรับในปีการศึกษา 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 127 คน แบ่งเป็น สาขาวิชาช่างเครื่องกล 39 คน สาขาวิชาการช่างโยธา 21 คน สาขาวิชาการจัดการเดินรถ 29 คน และสาขาวิชาช่างเทคนิคไฟฟ้ารถจักรและล้อเลื่อน 38 คน
ในโอกาสนี้ นายจเรฯ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับนักเรียนวิศวกรรมรถไฟ รุ่นที่ 63 ที่ได้พากเพียร อดทน ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษา พร้อมกับได้มอบนโยบายให้เตรียมความพร้อมที่จะเข้าปฏิบัติงานเป็นพนักงานของการรถไฟฯ โดยขอให้นำความรู้ความสามารถไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติงาน รักษาความภาคภูมิใจ เกียรติยศขององค์กร ตระหนักในคุณค่า ความสำคัญของอาชีพ และขอให้ทุกคนทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ
สำหรับโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ เป็นสถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรผู้ชำนาญการในระดับปฏิบัติการให้กับการรถไฟฯ โดยการเรียนการสอนมุ่งเน้นวิชาชีพ และเทคนิคเฉพาะทางเกี่ยวกับระบบการขนส่งทางราง มีการเรียนทั้งภาคทฤษฎีในห้องเรียน และฝึกประสบการณ์ทักษะวิชาชีพตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ นับได้ว่าเป็นสถาบันการศึกษาระบบรางแห่งแรกของไทย ภายใต้การกำกับดูแลของ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ทำหน้าที่สำคัญในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญด้านระบบรางมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนานกว่า 84 ปี และนับเป็นหน่วยงานที่พร้อมจะพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อรองรับการเติบโตในด้านระบบการขนส่งทางรางของประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับของการรถไฟฯ การฝึกระเบียบวินัย ควบคู่กับกิจกรรมด้านกีฬา ดนตรี และคุณธรรมจริยธรรม เพื่อเป็นการพัฒนาให้นักเรียนวิศวกรรมรถไฟสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยใช้ทักษะการคิด วิเคราะห์ความรู้ สามารถบริหารจัดการโดยนำเทคโนโลยีนวัตกรรมระบบการขนส่งทางรางที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการรถไฟฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบรางของการรถไฟฯ สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม และแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้นักเรียนที่จบออกมามีความพร้อมที่จะเข้าปฏิบัติงานให้กับการรถไฟฯ ได้ทันที