
“ดร.อนุสรณ์” ชี้ยุตินิติรัฐประหาร ! สถาปนารัฐธรรมนูญประชาชน ทางรอดรัฐล้มเหลว รัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากประชาชนจะมีส่วนในการลดบทบาท “รัฐพันลึก” หรือ Deep State ลดการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน ทำให้เกิด สังคมประชาธิปไตยพันลึก (Democratic Deep Society) ชี้ประเทศไทยต้องสร้างวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองให้ Democracy is the only game in town การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะต้องเกิดขึ้นในบริบทหรือในวิถีของประชาธิปไตย
วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ “สถาบันปรีดี พนมยงค์” ร่วมกับ “วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จัดงานเสวนา PRIDI Talks #28 x PBIC กล่าวนำโดย รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในหัวข้อ “ยุตินิติรัฐประหาร สถาปนารัฐธรรมนูญประชาชน: ทางรอดรัฐล้มเหลว” ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย จีรนุช เปรมชัยพร ที่ปรึกษาเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ,นิกร จำนง ประธาน คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา,รศ. ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา,รศ. ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหารโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ณ ห้องประชุม PBIC 105 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ

สำหรับการจัดงานในปีนี้เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และร่วมผลักดันให้เกิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญโดย ประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อติดตามตรวจสอบกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยศึกษาบทบาทขององค์กรอิสระ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และกระบวนการทำประชามติ และเป็นการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองแนวคิดการออกแบบรัฐธรรมนูญ รวมถึงปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น
โดยรศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวนำในงานสัมมนาทางวิชาการ ว่า เนื่องจากประเทศไทยของเรานั้น มีการรัฐประหารติดอันดับต้นๆของโลก และ ไม่มีหลักประกันใดๆในอนาคตว่าจะไม่มีรัฐประหารอีก สังคมไทยมีความเคยชินกับการรัฐประหาร จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยยอมรับ “รัฐประหาร” ในฐานะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง ซึ่งในหลายกรณีวิกฤตการณ์ทางการเมืองทั้งหลายก็เป็นการสร้างสถานการณ์ สร้างเงื่อนไขโดยคณะรัฐประหารเอง รัฐประหารจึงมีสภาพเป็น “สถาบันการเมือง” อย่างหนึ่งในสังคมไทย เป็น วัฒนธรรมอย่างหนึ่งของการเมืองไทย ผมคาดการณ์ว่า รัฐประหารในอนาคตของสังคมไทย จะมีนวัตกรรมใหม่ จะไม่เอารถถัง หรือ เอากองทัพมายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว แต่จะใช้ “กฎหมาย” ใช้ “รัฐธรรมนูญ” ที่คณะรัฐประหารร่างเอาไว้ในการยึดอำนาจ เป็น “นิติรัฐประหาร” หากใช้วิธีเดิม รัฐประหารโดยใช้กองทัพหรือรถถังเหมือน 13 ครั้งในประเทศไทยหลังการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 การรัฐประหารในอนาคตอาจทำไม่สำเร็จ อาจมีแรงต่อต้านมาก หากสำเร็จก็จะเกิดการนองเลือดและเผชิญหน้ากันรุนแรง แย่ที่สุดอาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองเหมือนประเทศเมียนมาได้
ส่วน “การทำนิติรัฐประหาร” ก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทันที ต้องสร้างเงื่อนไขให้สุกงอมก่อน โดยเฉพาะหากรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน มีความผิดผลาดในการดำเนินนโยบายสร้างความเสียหายให้ประเทศ หากรัฐบาลไม่มีปัญหาเหล่านี้ การทำนิติรัฐประหาร จะไม่มีความชอบธรรม และ ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่หากรัฐบาลสร้างเงื่อนไขเสียเอง ก็จะทำให้ “นิติรัฐประหาร” มีความชอบธรรมขึ้นทันที และ อาจเป็นการยึดอำนาจที่ดูดีกว่า การยึดอำนาจโดยกองทัพโดยเปรียบเทียบ อย่างไรก็ตาม ความจริง นิติรัฐประหาร ก็เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยอยู่ดี นิติรัฐประหาร เป็น ส่วนหนึ่งของนิติสงครามในประเทศไทย เครือข่ายของฝ่ายอำนาจนิยมปรปักษ์ประชาธิปไตย ก็รอจังหวะในการทำรัฐประหารอยู่ องค์กรภาคประชาสังคม และ พรรคการเมืองจึงไม่ควรตกเป็นเหยื่อของขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้ สภาวะแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศที่ กติกาสูงสุดไม่ได้ยึดหลักการประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นไปหลักนิติรัฐอย่างแท้จริง
แม้นประเทศที่สามารถสถาปนาสถาบันประชาธิปไตยให้เข้มแข็งอย่างเกาหลีใต้ ก็ยังเกิดผู้นำที่ลุแก่อำนาจประกาศกฎอัยการศึกอย่างไม่ชอบธรรม (เสมือนการทำรัฐประหารอำนาจของประชาชน) โชคดีที่การผนึกกำลังกันของพรรคการเมืองและองค์กรประชาธิปไตยสามารถสกัดกั้นการฟื้นคืนชีพของระบอบอำนาจนิยมในเกาหลีใต้ได้ ความสำเร็จนี้น่าจะส่งพลังมายังขบวนการประชาธิปไตยในอาเซียนด้วย การเร่งรัดในการสถาปนา รัฐธรรมนูญของประชาชน และ การทำให้ค่านิยมประชาธิปไตย หยั่งรากลึกในสังคมไทย เป็น สิ่งที่จะป้องกัน การรัฐประหารทุกรูปแบบได้โดยเฉพาะ “นิติรัฐประหาร” และ มีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย และ มีส่วนส่งเสริมให้ “ขบวนการประชาธิปไตย” ในภูมิภาคเข้มแข็งขึ้นอีกด้วย

รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากประชาชนจะมีส่วนในการลดบทบาท “รัฐพันลึก” หรือ Deep State ลดการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน จะทำให้การเลือกตั้งโปร่งใสบริสุทธิ์ ยุติธรรม ประชาชนมีสิทธิในการเลือกผู้บริหารประเทศและสามารถเลือกตัวแทนตามเจตจำนงของตนเองอย่างแท้จริง รัฐบาลจะถูกจำกัดอำนาจโดยรัฐธรรมนูญของประชาชน และ รัฐธรรมนูญจะมีระบบ กลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลในการใช้อำนาจของรัฐ ไม่ให้ละเมิดต่อสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรมต่อประชาชน ก้าวหน้ากว่านั้น เราก็คาดหวังว่า เราจะมีรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิด สังคมประชาธิปไตยพันลึก (Democratic Deep Society) คือ สังคมประชาธิปไตยที่มีการผนึกกำลังกันของเครือข่ายประชาธิปไตย สามารถตอบโต้ความท้าทายของฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยได้ในทุกรูปแบบ รวมทั้ง ระบอบอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้งที่ไม่เสรี สังคมประชาธิปไตยพันลึก จะทำให้ ศักดิ์ศรีและคุณภาพของประชาชนดีกว่าเดิม เศรษฐกิจที่เป็นธรรมกว่าเดิม สังคมที่สงบสุขสันติกว่าเดิม
การปฏิเสธรัฐประหารครั้งล่าสุดผ่านคูหาเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2566 ถือเป็นเพียงเบื้องแรกของการล่มสลายของสถาบันรัฐประหารในประเทศ ขั้นต่อไป ต้องสถาปนา “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ให้ได้ และ ต้องทำให้ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคหยั่งรากลึกในสังคมไทย ทำให้วัฒนธรรมประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นวิถีชีวิตของผู้คน ทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งยึดหลักของเหตุผล หลักสันติวิธี ผ่านการโหวต ผ่านการแสดงประชามติ โดยเคารพเสียงข้างมาก แต่เสียงข้างน้อยต้องมีพื้นที่ในสังคมที่สามารถดำรงอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างได้ ทำได้เช่นนี้ เราจึงหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเป็น “รัฐล้มเหลว” ในอนาคตได้
รัฐธรรมนูญของประชาชนและประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์ในทางบวกต่อกัน ส่งเสริมพัฒนาการของเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) และ สามารถปรับเปลี่ยนให้ ประชาธิปไตยไม่เสรี (illiberal Democracy) ให้ดีขึ้นได้
รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยจะผนึกรวมประชาชนผู้ด้อยโอกาสและประชาชนฐานรากชายขอบเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือหรือระบบสวัสดิการโดยรัฐ ทำให้ “เสียง” ของกลุ่มคนที่ชนชั้นนำไม่ได้ใส่ใจและนำประเด็นปัญหาต่างๆของประชาชนเสียงข้างมากผู้เงียบเฉยสู่ความสนใจของสาธารณชน “รัฐธรรมนูญที่ดี” สามารถขับเคลื่อน และบูรณาการ “กลุ่มคน” หรือ “ภาคส่วน” ที่ถูกทอดทิ้งให้เข้ามาอยู่ในระบบการเมือง และนำเสนอนโยบายที่กลุ่มคนเหล่านี้พึงพอใจและได้ประโยชน์ “รัฐธรรมนูญประชาชน” สามารถสร้างความเชื่อมโยงทางด้าน “แนวคิด” และ “อุดมการณ์” สร้างพันธมิตรและแนวร่วมทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญต่อพลวัตของระบบพรรคการเมืองและการเป็นตัวแทนทางการเมือง “รัฐธรรมนูญประชาชน” สร้างความรับผิดชอบทางประชาธิปไตย (Democratic Accountability) “รัฐธรรมนูญที่ดี” สามารถนำมิติความขัดแย้งทางการเมือง (Conflictive Dimension of Politics) สู่การถกเถียงในที่สาธารณะด้วยเหตุด้วยผล สามารถแสดงความเห็นได้อย่างเปิดเผยโดยไม่ต้องหวั่นเกรงต่อความปลอดภัย ทำให้ สังคมดำรงอยู่ได้อย่างสันติสุขท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย
รศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะทำให้เปลี่ยนแปลงรัฐบาล การเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ (Peaceful Transition) เกิดขึ้นได้ รัฐบาลที่โกงกินหรือไร้ความสามารถก็จะออกจากอำนาจไปด้วยกระบวนการประชาธิปไตยโดยไม่ต้องใช้การรัฐประหาร การรัฐประหารที่ทำให้บ้านเมืองถอยหลังและสร้างความเสียหายเหมือนที่ผ่านมา การเลือกตั้งไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าประชาธิปไตยมีความมั่นคงแล้ว ในกรณีของไทย
มีการเลือกตั้งแล้วรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนยังไม่มีอำนาจอย่างชัดเจน และถูกให้ออกจากตำแหน่งโดยอำนาจขององค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งองค์กรอิสระเหล่านี้มักมาจากแต่งตั้งของอำนาจคณะรัฐประหาร ในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการรัฐประหารถึงสองครั้ง และยังมีกลุ่มการเมืองที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายครั้งจากความผิดพลาดในการบริหารประเทศ การทุจริตคอร์รัปชันหรือกล่าวหาว่านโยบายของรัฐบาลสร้างความเสียหายต่อประเทศ ประเทศไทยไม่ได้สร้างวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองให้ Democracy is the only game in town อันเป็นกรณีที่สังคมและประชาชนทั้งหมดเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะต้องเกิดขึ้นในบริบทหรือในวิถีของประชาธิปไตย ซึ่ง รวมถึงกลุ่มการเมืองในการแก้ไขปัญหาต่างๆของประเทศต้องยึดถือวิถีทางประชาธิปไตยและระบอบการปกครองโดยกฎหมายที่ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมเท่านั้น พัฒนาการทางการเมืองที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคงนั้น จะต้องไม่มีพฤติกรรมของกลุ่มบุคคล กลุ่มการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์ในกองทัพพยายามจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยหรือหลักนิติธรรม (Rule of Law) รัฐธรรมนูญของประชาชน จึงเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการเมืองเชิงโครงสร้างเหล่านี้ และ ช่วยให้ “ไทย” รอดพ้นจากการเป็นรัฐล้มเหลวในอนาคต