Friday, 4 July 2025 - 10:48 am
spot_img
Friday, 4 July 2025 - 10:48
spot_img

KJL เปิดแผน 5 ปี ดันธุรกิจเติบโต 15% ปี 68 เร่งเสริมกำลังการผลิต-นวัตกรรม-โลจิสติกส์ครบวงจร รองรับการใช้ไฟฟ้ายุคเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด  ลงทุน Data Center

นายเกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค จำกัด (มหาชน) หรือ KJL พาสื่อมวลชนเยี่ยมโรงงานที่ใช้นวัตกรรมสมัย หุ่นยนต์เพิ่มกำลังการผลิตสินค้า

“กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค” เปิดแผนลงทุน 5 ปี ช่วง 2567-2571 ทุ่มเงินลงทุน 430 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายเติบโตสูงสุด 15% ต่อปี เพิ่มศักยภาพขยายขนาดธุรกิจได้ 2 เท่า เผยแนวโน้มธุรกิจเติบโตต่อเนื่องคู่ขนานกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมไฟฟ้า ระบุปัจจัยการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ลงทุน Data Center และ AI ดันตลาดตู้ไฟ รางไฟเพิ่มขึ้น ครึ่งหลังปี 2568 ชูกลยุทธ์ครบมิติ ทั้งขยายกำลังการผลิต พัฒนานวัตกรรมสินค้าใหม่ เสริมศักยภาพด้านโลจิสติกส์ พร้อมรุกขยายเครือข่ายผู้ใช้งานและฐานลูกค้าทั่วประเทศ มั่นใจกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 40 ล้านชิ้น ปักธงนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2570

นายเกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค จำกัด (มหาชน) หรือ KJL เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว แต่คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดยังดำเนินต่อไป จะทำให้มีโครงการลงทุนโซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ฟาร์มเพิ่มขึ้น ซึ่งภาครัฐได้สนับสนุนพลังงานสะอาดตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือพีดีพีฉบับใหม่ เพื่อลดคาร์บอนจะส่งผลดีต่อภาพรวมของธุรกิจไฟฟ้า รวมถึงการเข้ามาลงทุนของธุรกิจ Data Center หรือ AI ในประเทศไทยจะส่งผลดีต่อสินค้าตู้ไฟ รางไฟด้วย

เมื่อแนวโน้เมอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจะส่งผลต่อรายได้ของบริษัทในไตรมาส 2 ของปีนี้ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก แม้ต้นทุนวัตถุดิบเหล็กยังผันผวน แต่ปริมาณคำสั่งซื้อและกำลังการผลิตของบริษัทยังคงความแข็งแกร่ง สะท้อนภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่มีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาคก่อสร้าง เมกะโปรเจกต์ภาครัฐ และนิคมอุตสาหกรรมใหม่ บริษัทเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตจาก 33 ล้านชิ้นต่อปี เป็น 40 ล้านชิ้น ภายในสิ้นปี 2568 โดยลงทุนในสายการผลิตอัตโนมัติและการปรับโครงสร้างภายในโรงงาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับคำสั่งซื้อขนาดใหญ่ และสร้างความยืดหยุ่นในการส่งมอบให้ทันความต้องการตลาดในเชิงอุตสาหกรรม

นายเกษมสันต์ กล่าวด้วยว่า บริษัทมีแผนลงทุนระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2571 วงเงินลงทุน 430 ล้านบาท เพื่อสร้างยอดขายให้เติบโต โดยได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ย 10-15% ต่อปี และขยายขนาดธุรกิจเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปี ผ่านการเพิ่มกำลังผลิต พัฒนานวัตกรรม และขยายตลาดต่างประเทศ โดยคงจุดยืนในฐานะผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมระบบไฟฟ้าไทยสู่มาตรฐานระดับโลก

สำหรับปี 2568 มีแผนลงทุนจำนวน 200 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างคลังสินค้าและโรงงานผลิตแห่งใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า บนที่ดิน 6 ไร่ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับเครือข่ายโลจิสติกส์ในประเทศแบบครบวงจร ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการกระจายสินค้าไปยังศูนย์กลางอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

“ในปี 2568 คาดว่าบริษัทจะมีรายได้ประมาณ 1,300-1,500 ล้านบาท กำไรเติบโต 2 เท่า มาจากนโยบายภาครัฐได้ส่งเสริมให้ประชาชนมีการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด การลงทุน Data Center ซึ่งจะส่งผลดีต่อการผลิตสินค้าตู้ไฟ รางไฟ และอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าต่างๆ คาดว่าจะมีการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2027”

ทั้งนี้ โรงงานแห่งใหม่นี้บริษัทได้เปิดตัว “KJL Innovation Campus (KIN)” ศูนย์นวัตกรรมด้านระบบไฟฟ้าแบบครบวงจรแห่งแรกของบริษัทไทยในอุตสาหกรรมนี้ โดยภายในประกอบด้วยสายการผลิตต้นแบบ Metal Design Lab, R&D Center, โชว์รูมผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และศูนย์สัมมนา เพื่อพัฒนานวัตกรรมสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์งานระบบในนิคมอุตสาหกรรม อาคารพาณิชย์ และโรงงานผลิตระดับสากล บริษัทยังเดินหน้าพัฒนาและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น Plastic Wall Box, Pull Box และกลุ่ม Stainless Series ซึ่งถือเป็นกลุ่มสินค้าที่มีอัตรากำไรสูง (High Margin) พร้อมจำหน่ายในรูปแบบ Stock Standard เพื่อลดระยะเวลาการผลิต รองรับงานระบบที่ต้องการสินค้าพร้อมใช้ในโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ศูนย์นวัตกรรมด้านระบบไฟฟ้าแบบครบวงจรแห่งแรกของบริษัทไทย หรือ KJL Innovation Campus (KIN)

นอกจากนี้ บริษัทยังมีบริการจัดส่งสินค้าแบบเร่งด่วนภายในวันเดียว “KJL Now” ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์อุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการแบบ Just-In-Time ของลูกค้าโครงการ โดยเฉพาะกลุ่มช่างไฟฟ้าและผู้รับเหมาที่ต้องการความแม่นยำด้านเวลาและการจัดส่งสินค้าในพื้นที่ห่างไกล

“KJL ได้ลงทุนโซลาร์รูฟท็อป จำนวน 150-200 กิโลวัตต์ ในอาคาร KIN เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นการลงทุนเพิ่มเติมที่มีโซลาร์รูฟใช้งานอยู่แล้วในโรงงานเดิม 1 เมกะวัตต์ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงประมาณ 10-20% ต่อเดือน และกำลังลงทุนเพิ่มอีก 200 กิโลวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปีนี้” นายเกษมสันต์กล่าว

ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงเดินหน้าขยายฐานลูกค้าที่เป็นร้านอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วประเทศ หรือ “KJL Network” ขยายเครือข่ายร้านค้าจาก 1,000 ร้าน ไปสู่เป้าหมาย 1,200 ร้านภายในปีนี้ และขยายเครือข่ายช่างไฟฟ้า ผู้รับเหมา และวิศวกรทั่วประเทศผ่านงานสัมมนารวมพลคนไฟฟ้าและอบรมกว่า 13 ครั้งทั่วประเทศ จาก 10,000 รายเป็น 15,000 ราย โดยรวบรวมความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งระบบไฟฟ้าอย่างถูกต้อง เพื่อยกระดับความปลอดภัย และเพิ่มศักยภาพให้แก่ช่างไฟฟ้า วิศวกร หรือ ผู้ออกแบบ ทั่วประเทศพร้อมทั้งเร่งเสริมศักยภาพการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาด และบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

บริษัทเดินหน้าสู่การเป็นฐานการผลิต OEM ด้านระบบไฟฟ้าให้กับแบรนด์ชั้นนำ อาทิ Schneider Electric และพันธมิตรจากญี่ปุ่นและยุโรป ภายใต้กลยุทธ์ Localization Part ผลิตในไทยและส่งออกทั่วโลก พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์เฉพาะทางที่สอดรับกับมาตรฐานอุตสาหกรรมแต่ละประเทศ

LATEST NEWS