Saturday, 23 November 2024 - 7:40 am
spot_img
Saturday, 23 November 2024 - 07:40
spot_img

สหภาพแรงงานฯ กฟผ. ยื่นหนังสือเสนอ 10 ข้อให้ “พีระพันธุ์”  ทบทวนร่างแผน PDP2024 ทำให้ “ไฟฟ้าล้นระบบพุ่ง-ระบบไฟฟ้าของประเทศมีความเสี่ยง-ค่าไฟแพง”

สหภาพแรงงานฯ กฟผ. ยื่นหนังสือถึง “พีระพันธุ์” เสนอ 10 ข้อทบทวนร่างแผน PDP2024 เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและราคาค่าไฟฟ้า ชี้ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองล้นระบบไม่ต้องเร่งทำแผนใหม่ ชี้ PDP ฉบับใหม่ กฟผ.มีกำลังผลิตไฟฟ้าเหลือเพียง 17% ถือว่าน้อยมากในการดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ แถมระบบไฟฟ้าภาคใต้ช่วงกลางคืนยังเสี่ยงควรคงโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีไว้ในแผนเดิม รวมถึงควรทบทวนการนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีรวมอยู่ในระบบ Pool Gas ด้วย เผยเสนอทางออกทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงควรเจรจาทบทวนสัญญา PPA กับโรงไฟฟ้าเอกชนให้ลดค่า AP ให้เหลือแค่ 10-20 สตางค์ต่อหน่วย

รายงานข่าวจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา นางณิชารีย์  กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอให้มีการทบทวนร่างแผน PDP2024 ใหม่ โดยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 3 การไฟฟ้า มีความห่วงใยต่อร่างแผน PDP2024 ที่ยังไม่บรรลุจุดประสงค์หลักที่สำคัญในกิจการไฟฟ้าของประเทศใน 2 ประการคือ เรื่องการดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและอัตราค่าไฟฟ้าที่รัฐจะต้องดูแลการบริการจัดการ เนื่องจากเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชนตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยสาระสำคัญที่เสนอให้พิจารณาทบทวนการจัดทำร่างแผน PDP2024 มีทั้งหมด 10 ข้อ ดังนี้

1. ให้เวลามากขึ้นในการทบทวนร่างแผน PDP เพื่อให้เกิดประสิทธิผลและประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน เนื่องจากปัจจุบันยังมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่มากจึงไม่จำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการจัดทำ PDP 2024 โดยควรเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมให้รอบด้านและทบทวนปรับปรุงร่างแผนใหม่อีกครั้ง

2. ทบทวนเรื่องการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นต้นเหตุสำคัญด่านแรกที่จะนำไปสู่การรับซื้อไฟฟ้าที่มากเกินความจำเป็น เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นตลอดเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา  ซึ่งในร่างแผน PDP2024 นี้ ก็ยังคงใช้แนวคิดเดิมในการพยากรณ์ คือ การใช้สัดส่วนอัตรา 1:1 การเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ออัตราการเติบโตของ GDP (Electricity Elasticity , EE)  ที่ประมาณ เช่น ถ้า GDP เติบโต 3.1 % ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศจะเพิ่มขึ้น 3.1 %  แต่เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนมีมาตรการประหยัดไฟฟ้ารูปแบบต่างๆ และผลิตไฟฟ้าใช้เองเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าของประเทศลดลง 

ดังนั้น จึงควรทบทวนเรื่องการประเมินค่า GDP ใหม่  และใช้สัดส่วน  EE ประมาณ 0.75-0.. ๐.๗๕ -0.8:1 ซึ่งสมมติว่า ค่าเฉลี่ย GDP ใหม่อยู่ที่ 3% ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.25-2.4% จะมีผลต่อการต้องมีโรงไฟฟ้าเข้ามาใหม่อย่างมีนัยยะสำคัญ  แนวทางนี้สามารถทดลองทำได้เนื่องจากปัจจุบันมีไฟฟ้าสำรองอยู่มากเพียงพออีกหลายปีและสามารถปรับปรุงให้ทันต่อสภาวะการณ์ได้ทุกๆ 2-3 ปี

2. การกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้ามาใหม่ ควรต้องให้ค่อยทยอยเข้ามาในระบบให้สมดุลกับกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่เดิมจำนวนมากก่อน เพื่อไม่ให้มีโรงไฟฟ้าหลักเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ที่ยังมีความจำเป็นต้องมีเพื่อดูแลเรื่องเสถียรภาพของไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในระบบเร็วกว่าที่ควร  เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใช้ระยะเวลาในก่อสร้างสั้นเพียง 1-2 ปี  การบริหารจัดการให้เพิ่มเข้ามาในระบบทำได้ง่าย

4. โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm)  ซึ่งช่วยผลิตไฟฟ้าป้อนให้ระบบในเวลากลางวันมีกำลังการผลิตรวมค่อนข้างมากอยู่แล้ว  มีผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ ปัจจุบันเปลี่ยนไปเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน (ประมาณช่วง 3-4 ทุ่ม) 

ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบเดิมจะไม่สามารถช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้ นอกจากนี้หากมีมากเกินไปการดูแลเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าจะทำได้ยากมากขึ้น ในแผน PDP ใหม่นี้ จึงควรให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ (Floating Solar)  ในเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่เป็นลำดับแรกมากกว่า เนื่องจากจะช่วยผลิตไฟฟ้าในเวลากลางวัน เพื่อเก็บรักษาน้ำในเขื่อนไว้ผลิตไฟฟ้าสนับสนุนความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงในช่วงเวลากลางคืน เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นจึงควรกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าประเภทนี้ให้มากจนเต็มตามศักยภาพของโรงไฟฟ้าพลังน้ำของประเทศโดยเร็วเป็นลำดับแรกก่อน

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แบบมีระบบแบตเตอรี่เพื่อเก็บกักพลังงาน (BESS) นั้น การกำหนดช่วงเวลาที่จะเปิดการรับซื้อไฟฟ้าควรให้เหมาะสมกับความพร้อมคือเมื่อเทคโนโลยีมีความลงตัวแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีการกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าที่ไม่สูงเกินไป เช่น ไม่ควรเกินหน่วยละ 3 บาทเพื่อช่วยดึงราคาค่าไฟฟ้าในภาพรวมให้ถูกลง (ปัจจุบันค่าไฟฟ้าฐานอยู่ที่หน่วยละ 3.78 บาท)

5. ควรแสวงหาแนวทางการเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าสะอาดเป็นโรงไฟฟ้าหลัก เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง (Energy Mix) ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศในส่วนของโรงไฟฟ้าหลักพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติมากถึงร้อยละ  60  และโรงไฟฟ้าหลักที่จะเข้ามาใหม่ในระบบไฟฟ้าก็ใช้แต่ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งแหล่งก๊าซธรรมชาติมาจากอ่าวไทย  เมียนมา  และนำเข้า LNG และในอนาคตจะเหลือเพียงจากอ่าวไทยและการนำเข้า LNG ซึ่งการนำเข้า LNG ที่สัดส่วนมีแนวโน้มสูงขึ้นและมีราคาที่ผันผวนส่งผลให้ค่าไฟฟ้าจะไม่ถูกลงเท่าที่ควร  ประเทศจะคงอยู่ในวังวนของวัฏจักรค่าไฟฟ้าสูงมากจนรับไม่ได้เหมือนเช่นปัจจุบันจากผลกระทบวิกฤตการณ์โลกด้านเชื้อเพลิง หรือภัยสงครามซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะ

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าหลักที่ไม่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องมลภาวะสำหรับประเทศไทยมี 2 ทางเลือกคือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งการกำหนดให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ในช่วงท้ายของแผน PDP ควรพิจารณาทบทวนใน 2 ประเด็น  คือ 

ประเด็นแรก โรงไฟฟ้า SMR อาจไม่ได้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ปกติ  และมีกำลังผลิตน้อย (300 MW) จึงไม่มากพอที่จะมีผลต่อการช่วยลดราคาค่าไฟฟ้า

ประเด็นที่สอง ซึ่งสำคัญมากกว่าคือ การได้รับการยอมรับจากประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งในการจัดทำ PDP ที่ผ่านมาก็เคยมีการกำหนดให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในช่วงท้ายของแผนเช่นกันแต่ต่อมาก็ต้องถอดออกไป ดังนั้นการจะกำหนดให้มีโรงไฟฟ้า SMR หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดปกติไว้ในแผนจึงไม่มีความแตกต่างกันมากในเรื่องความยากของการสื่อสารเพื่อสร้างการยอมรับจากประชาชนและการออกกฎหมายเพื่อการควบคุมที่เกี่ยวข้อง แต่จะมีความแตกต่างอย่างชัดเจนในเรื่องการกระจายความเสี่ยงเรื่องสัดส่วนของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักและการช่วยดึงราคาค่าไฟฟ้าให้ถูกลง

สรุปคือไม่ว่าจะเลือกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประเภทใดการใช้ทรัพยากรเพื่อให้สามารถพัฒนาโครงการให้เกิดขึ้นได้จริงไม่แตกต่างกัน

6. ควรทบทวนเรื่องการนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ให้มารวมอยู่ในระบบ Pool Gas  ของประเทศ เพื่อให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้ามีราคาถูกลงและเกิดความยุติธรรมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ 

7. ควรให้มีการทบทวนเรื่องความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศเป็นรายภาค เนื่องจากในร่าง PDP2024 พบว่าในพื้นที่ภาคใต้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าพึ่งได้ในช่วงเวลากลางคืนต่ำกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด จึงจำเป็นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ เพื่อคอยดูแลเรื่องความเพียงพอ และการผันผวนของเสถียรภาพระบบไฟฟ้าในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที  ทั้งนี้ การส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าภาคตะวันตกจะเป็นส่วนเสริมช่วยสำรองและสนับสนุนเรื่องความมั่นคง ซึ่งแนวคิดเรื่องความมั่นคงระบบไฟฟ้าเป็นรายภาคนี้ก็ได้ใช้ในการจัดทำ PDP2024 มาแล้ว จึงเป็นที่มาของการกำหนดให้มีโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีไว้ในแผนเดิม สำหรับการกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าใหม่ในภาคตะวันตกตามร่างแผน PDP2024 นั้น ก็เพื่อเป็นการทดแทนโรงฟ้าเดิมในพื้นที่ที่จะหมดอายุลง และคอยช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในเขตนครหลวงเป็นหลัก

8. ควรทบทวนเรื่องสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าระหว่างภาครัฐกับเอกชนให้มีความชัดเจน  ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดกรอบสัดส่วนเอาไว้  ทั้ง ๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยแนะนำให้  กพช. และ  กกพ. ต้องดำเนินการกำหนดกรอบ หรือเพดานของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ แต่ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด การมีกรอบสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ชัดเจนจะทำให้การวางแผนของรัฐภาคนโยบาย ภาครัฐที่ผลิตไฟฟ้า และภาคเอกชน สามารถคิดวางแผนงานไว้ล่วงหน้าได้ดีขึ้น  ทั้งนี้ ตามร่าง PDP2024  ภาครัฐคือ กฟผ. จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเหลืออยู่เพียงร้อยละ 17  ซึ่งถือว่าน้อยมากในภารกิจสำคัญที่ต้องดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ที่ในอนาคตจะมีความผันผวนมากยิ่งขึ้นจากนโยบายของรัฐที่จะให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากเพิ่มเข้ามา

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ไม่ว่าจะโดยภาครัฐหรือ เอกชนไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องราคาค่าไฟฟ้า เนื่องจากรัฐเป็นผู้ควบคุมและกำหนดราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าและราคาเชื้อเพลิง ในขณะที่โรงไฟฟ้าของรัฐสามารถตอบแทนคืนประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนด้วยการนำส่งรายได้เข้ารัฐปีละหลายมื่นล้านบาท รวมทั้งการใช้เป็นกลไกเพื่อดูแลราคาค่าไฟฟ้าและการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางเช่นที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

9. นอกจากเรื่องการทบทวนการจัดทำ  PDP ดังกล่าวข้างต้นแล้ว  การจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้ทันที เห็นควรพิจารณาให้มีการเจรจาเพื่อทบทวนสัญญา PPA กับโรงไฟฟ้าเอกชนในเรื่องการจ่ายเงินค่าความพร้อมจ่าย (AP)  ให้ลดลงเหลือน้อยที่สุดเช่น  10-20 สตางค์ต่อหน่วย (ปัจจุบันค่าเฉลี่ย AP ประมาณ 75-80 สตางค์ต่อหน่วย) โดยอาจแลกกับการขยายอายุสัญญาหรือเงื่อนไขอื่นที่เหมาะสม โดยเลือกโรงไฟฟ้าที่ประกอบการมาคุ้มทุนแล้ว (อายุ 7-10 ปี) ทั้งนี้ในเบื้องต้นควรทดลองเจรจาขอความร่วมมือจากโรงไฟฟ้าในเครือของ กฟผ.และ ปตท. ดูก่อนหากสามารถทำได้ก็จะเกิด Quick Win และใช้เป็นต้นแบบ และควรให้ทบทวนเรื่องการทำสัญญา PPA ใหม่ไว้เพื่อใช้สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคตด้วย

10. มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า เนื่องจากเรื่องกิจการไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐควรพิจารณากำหนดตัวชี้วัดการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกระตุ้นให้มีความมุ่งมั่นในภารกิจ เช่น ต้องบริหารจัดการไม่ให้ราคาค่าไฟฟ้าเกิน 3.90 บาทต่อหน่วยภายใน 3 ปี เป็นต้น

#กฟผ #ทบทวนแผนPDP

LATEST NEWS