Saturday, 23 November 2024 - 1:57 am
spot_img
Saturday, 23 November 2024 - 01:57
spot_img

ครั้งแรกของอาเซียน ! จัดงานสมาร์ทซิตี้ระดับโลก IEEE International Smart Cities พบกับการแสดงพลังงานสีเขียว เทคโนโลยีสมัยใหม่ภาคขนส่ง การสื่อสาร เมืองอัจฉริยะ คาดเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

นับถอยหลัง “สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี”  เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติด้านสมาร์ทซิตี้ระดับโลก 10th IEEE International Smart Cities Conference (IEEE-ISC2- 2024) ครั้งแรกของไทยและอาเซียน ภายใต้หัวข้อ “เมืองอัจฉริยะ: การปฏิวัติเพื่อมนุษยชาติ” ระดมผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และนักพัฒนาสมาร์ทซิตี้จากทั่วโลกมาร่วมพัฒนาวางแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในอนาคต  เผยไฮไลท์จะได้พบกับการแสดงพลังงานสีเขียวจากไฮโดรเจน เทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับภาคขนส่ง การสื่อสาร การลงทุน และเมืองอัจฉริยะสุดล้ำ คาดมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) หรือ IEEE PES Thailand Chapter ได้จัดงานแถลงข่าว การประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ 10th IEEE International Smart Cities โดยนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง และนายกสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) ได้มอบหมาย นายชูเกียรติ ยั่งยืนบางชัน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นผู้แทน ร่วมกับ รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ อุปนายกด้านการจัดประชุมวิชาการ (IEEE PES Vice Chair Meeting and Conference) และนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ พร้อมด้วย รศ.ดร.มนตรี วิบูลยรัตน์ Conference Chair, ISC2 2024 ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ นายกสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) หรือ IEEE Power & Energy Society (Thailand) และในนามผู้ว่าการ การไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นแนวทางหลักของการพัฒนาเมืองทั่วโลก เนื่องจากจะช่วยยกระดับการอำนวยความสะดวกในทุกด้าน ทั้งในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ลดปัญหาการจราจร เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังก่อให้เกิดแนวทางการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ ที่สอดคล้องกับโลกในปัจจุบันและอนาคต

ด้วยความสำคัญดังที่กล่าวมาข้างต้น ได้สร้างกระแสการพัฒนาเมืองของไทยไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ในหลายพื้นที่ทั้งการพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น จึงทำให้ไทยก้าวขึ้นมีความโดดเด่นในด้านนี้ โดยล่าสุดสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) หรือ IEEE PES Thailand Chapter ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติด้านเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 10 หรือ 10th IEEE International Smart Cities Conference (IEEE-ISC2- 2024) ในระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมรอยัล คลิฟ แกรนด์ พัทยา จังหวัดชลบุรี ภายใต้แนวคิดหลัก “เมืองอัจฉริยะ: การปฏิวัติเพื่อมนุษยชาติ” ซึ่งได้จัดขึ้นที่ประเทศไทยรวมถึงอาเซียนเป็นครั้งแรก หลังจากได้มีการจัดมาอย่างต่อเนื่องทุกปีในหลากหลายประเทศ ทั้งในยุโรปและอเมริกา

รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ อุปนายกด้านการจัดประชุมวิชาการ (IEEE PES Vice Chair Meeting and Conference)  กล่าวว่า การจัดงาน IEEE International Smart Cities Conference ถือได้ว่าเป็นการจัดงานด้านสมาร์ทซิตี้ที่สำคัญของโลก เนื่องจากเป็นเวทีการประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติที่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย จากหลากหลายสาขาในองค์กรชั้นนำทั่วโลกได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยเจาะลึกหัวข้อพิเศษ อาทิ การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อเสริมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในเมืองอัจฉริยะ, การสร้างสมดุลความปลอดภัยทางไซเบอร์และการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ, การเดินทางอย่างชาญฉลาดอย่างยั่งยืน: สำรวจโอกาสและรับมือกับความท้าทาย, ไฮโดรเจนในฐานะพาหนะพลังงานสีเขียวทางเลือก, การจัดการรถไฟอัจฉริยะ: การเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และประสบการณ์ของผู้โดยสาร และอื่น ๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และขยายเครือข่ายความร่วมมือ รวมทั้งกิจกรรมที่หลากหลายจากผู้เชี่ยวชาญ วิทยากร ผู้บริหารเมืองอัจฉริยะทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

“ไฮไลท์ภายในงานประชุม IEEE ISC2 2024 ครั้งนี้จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ท ไฟล์,สมาร์ท คลอลิตี้ ,การแสดงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะมาใช้กับภาคขนส่ง การสื่อสาร การลงทุน รวมถึงมาใช้กับเมืองอัจฉริยะ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับทุกคน

ทางด้าน รศ.ดร.มนตรี วิบูลยรัตน์ ประธานการจัดงานประชุม IEEE ISC2 2024 ได้เพิ่มเติมว่า การประชุม IEEE ISC2 2024 มุ่งเน้นในหัวข้อ “เมืองอัจฉริยะ: การปฏิวัติเพื่อมนุษยชาติ” โดยนำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในเมือง ผู้เชี่ยวชาญจะหารือเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การจัดการพลังงาน การเดินทาง และการมีส่วนร่วมของประชาชน ISC2 2024 เป็นเวทีสำหรับความร่วมมือระดับโลก เพื่อให้เทคโนโลยีเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ มาร่วมสร้างเมืองแห่งอนาคตไปด้วยกัน

“การประชุมสัมมนาในเวทีโลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว จะเห็นว่าประเทศสิงคโปร์พยายามดึงงานประชุมต่างๆ เข้าไป เพราะไม่ใช่แค่เพื่อการศึกษาอย่างเดียว แต่จะเป็นเพื่อการศึกษาบวกกับอุตสาหกรรมบวกกับการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นการจัดงานประชุม IEEE ISC2 2024 ที่พัทยาครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย และพัทยายังเป็นเมืองแรกๆของประเทศไทยที่เป็นเมืองสมาร์ทซิตี้”

สำหรับการประชุมวิชาการ IEEE-ISC2-2024 จะประกอบด้วยการนำเสนอผลงานวิจัยกว่า 200 ฉบับ ในหัวข้อที่สำคัญ เช่น การบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในเมืองอัจฉริยะ, แอปพลิเคชันขั้นสูงและการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับเมืองอัจฉริยะ, ที่อยู่อาศัยใหม่ในเมืองอัจฉริยะ, ศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีคลาวด์ และสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ เป็นต้น รวมทั้งยังมีการจัดกิจกรรมเชิงวิชาการที่หลากหลาย อาทิ การบรรยายพิเศษ (tutorial) เวทีการเสวนา (panel session) การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการ (side event) การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) และการจัดแสดงนิทรรศการ (Exhibition) จากหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนชั้นนำในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยจะมีกลุ่มเป้าหมายหลักเข้าร่วมงานประชุมวิชาการ และเยี่ยมชมนิทรรศการ ประมาณ 500 คน ทั้งผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักพัฒนา นักวิชาการ นักศึกษา นักวิเคราะห์นโยบาย สถาปนิก วิศวกร ของหน่วยงาน และองค์กรภาครัฐภาคเอกชน ผู้สนใจในด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรมสำหรับการ พัฒนาเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนผู้บริหารเมืองอัจฉริยะทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีจัดแสดงนวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านเมืองอัจฉริยะ โดยมีไฮไลท์ที่สำคัญจากผู้สนับสนุนหลักในการจัดแสดงนำโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), IEEE DataPort รวมทั้งยังมีการจัดแสดงเทคโนโลยีอัจฉริยะจากบริษัทชั้นนำระดับนานาชาติ อาทิ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) และบริษัท ชไนเดอร์ อีเล็คทริค (ประเทศไทย) ที่เป็นผู้สนับสนุนระดับไดมอนด์ จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทยในการแสดงศักยภาพด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ กระตุ้นการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมสำหรับเมืองอัจฉริยะ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือของผู้นำด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระหว่างประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

ด้าน นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บมีความยินดีที่จะสนับสนุนการจัดงาน The 10th IEEE International Smart Cities Conference (IEEE ISC2 2024) ซึ่งเชื่อมั่นว่างานประชุมดังกล่าวจะสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อเนื่องจากการจัดงาน สร้างคุณูปการในระยะยาวต่อเมืองพัทยา รวมไปถึงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และประเทศไทยไปจนถึงระบบนิเวศด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของโลกอีกด้วย

การจัดงานประชุมนานาชาติ IEEE ISC2 2024 ครั้งนี้คาดว่าจะสร้างมูลค่าจากการจับจ่ายที่เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ที่สำคัญเป็นการกระจายการจัดงานออกยังหัวเมืองที่สำคัญนอกจากกรุงเทพฯ และยังสอดคล้องกับนโยบาย Ignite Thailand ด้านวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทย อีกทั้งยังตรงตามอุตสาหกรรมเป้าหมายของทีเส็บในการผลักดันให้เกิดการจัดงานประชุมนานาชาติด้าน Urban Quality of Life and Mobility เพื่อเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ทีเส็บขอขอบคุณสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี ประเทศไทย สำหรับการสร้างคุณูปการต่ออุตสาหกรรมการจัดประชุมนานาชาติของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทีเส็บยินดีสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมมือกับสมาคมฯ เพื่อนำงานสำคัญๆ ของ IEEE อีกหลายๆ งานมาจัดที่ประเทศไทยในอนาคต

เตรียมพบกับการประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติ 10th IEEE International Smart Cities Conference (IEEE-ISC2-2024) ครั้งที่ 10 ภายใต้แนวคิดหลัก “Smart Cities : Revolution for Mankind”  ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมรอยัล คลิฟ แกรนด์ พัทยา จังหวัดชลบุรี

LATEST NEWS