Saturday, 23 November 2024 - 7:17 am
spot_img
Saturday, 23 November 2024 - 07:17
spot_img

สมาคมวิศวกรฯ ชี้ชัดอาคารที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ “ชุมชนตรอกโพธิ์” ย่านเยาวราชเสียหายอย่างหนักเพื่อความปลอดภัยสามารถนำอาคารกลับมาใช้งานได้อีก

สมาคมวิศวกรฯ ชี้โครงสร้างอาคารจากเหตุเพลิงไหม้ชุมชนตรอกโพธิ์ถนนเยาวราชเสียหายหนัก ระบุเพื่อความปลอดภัยไม่สามารถนำอาคารกลับมาใช้งานได้อีก เตือนอีกพบตึกแถวบางส่วนซอยเยาวราช 7 อยู่ในสภาพเอียงหรือทรุด คาดสาเหตุมาจากอาคารเก่าใช้งานมานาน

จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ชุมชนตรอกโพธิ์ ถ.เยาวราช เมื่อคืนวันที่ 6 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เผยว่า ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างอาคาร ได้แก่ นายชูเลิศ จิตเจือจุน และนายวัฒนพงศ์ หิรัญมาลย์ กรรมการบริหารสมาคมฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้างอาคารร่วมกับสำนักงานควบคุมอาคาร กทม. และเจ้าหน้าที่โยธาจากสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2567  

ผลการสำรวจพื้นที่และสภาพโครงสร้างอาคาร สามารถจัดแบ่งอาคารเป็น 2 กลุ่มตามระดับความเสียหายทางโครงสร้าง ดังนี้

1. อาคารตรงบริเวณชุมชนตรอกโพธิ์ ซึ่งเป็นจุดที่เกิดเหตุเพลิงไหม้โดยตรง พบว่าอาคารส่วนใหญ่ในบริเวณดังกล่าวประมาณร้อยละ 80 ได้รับความเสียหายทางโครงสร้างและทางสถาปัตยกรรมอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นจุดที่เกิดเพลิงไหม้โดยตรง และอาคารส่วนใหญ่ก่อสร้างขึ้นจากไม้ ซึ่งเป็นวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย  ดังนั้น อาคารในบริเวณดังกล่าว จึงไม่สามารถใช้การได้อีก อย่างไรก็ตาม มีอาคารบางส่วนประมาณ 20% ซึ่งได้รับความเสียหายน้อยกว่า และต้องเข้าไปตรวจสอบอาคารเหล่านี้อีกครั้ง

2. อาคารตึกแถว 6 ชั้นที่อยู่ด้านนอก และติดกับชุมชนตรอกโพธิ์ ซึ่งทางสมาคมฯ ได้เข้าตรวจสอบอาคารที่เป็นภัตตาคารและโรงแรม พบว่า อาคารทั้งสองเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นวัสดุที่ทนไฟได้ดีกว่าอาคารไม้หรือเหล็ก จากการตรวจสอบชั้น 4-6 ของอาคารยังไม่พบความเสียหายของโครงสร้าง เนื่องจากคอนกรีตไม่เปลี่ยนสี คอนกรีตที่หุ้มเหล็กยังไม่กะเทาะ และเหล็กเสริมที่อยู่ด้านในไม่เสียรูป แสดงว่ายังไม่ได้รับผลกระทบจากความร้อนมากนัก โดยรวมแล้ว สภาพทางโครงสร้างยังถือว่ามั่นคงแข็งแรงอยู่ 

“ความเสียหายที่พบได้แก่ปูนฉาบที่กะเทาะหลุดออกมา และวัสดุตกแต่งทางสถาปัตยกรรมที่เผาไหม้จากความร้อน ซึ่งไม่กระทบต่อโครงสร้างหลัก ส่วนชั้นล่างของอาคารไม่พบความเสียหายทั้งในส่วนงานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรมในระดับที่สำคัญ”

ศ.ดร.อมร  กล่าวอีกว่า เนื่องจากอาคารตึกแถวเหล่านี้ เป็นอาคารเก่าและก่อสร้างมานานกว่า 30-40 ปีแล้ว แม้ว่าเหตุเพลิงในครั้งนี้ เมื่อประเมินจากสายตาแล้ว ยังไม่กระทบต่อโครงสร้างอาคาร แต่ก็ควรทำการประเมินเชิงลึกอีกครั้งหลังจากที่ได้เคลียร์พื้นที่แล้ว โดยใช้การทดสอบแบบไม่ทำลาย และการเจาะคอนกรีตเพื่อพิสูจน์กำลังอัด หรือทำการทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุก (Load test) เพื่อให้เกิดความมั่นใจในโครงสร้างต่อไป

อนึ่ง มีอาคารตึกแถวบางส่วน ที่อยู่ด้านซอยเยาวราช 7 อาจพบเห็นว่ามีการเอียงหรือทรุด แต่การทรุดเอียงดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นมานานแล้วเนื่องจากเป็นอาคารเก่า และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการรับน้ำหนักของชั้นดินและฐานราก ซึ่งไม่น่าเกี่ยวข้องกับเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ แต่ก็ควรตรวจสอบละเอียดให้แน่ชัดอีกครั้ง

LATEST NEWS