Saturday, 23 November 2024 - 1:52 pm
spot_img
Saturday, 23 November 2024 - 13:52
spot_img

สนค. เดินหน้านำ Blockchain ยกระดับส่งออกไทย หนุนตรวจสอบย้อนกลับเพิ่มโอกาสการค้าในตลาดโลก

สนค.จับมือ ม.ธรมศาสตร์ ฝ่าด่านมาตรการกีดกันทางการค้าโลก วางแนวทางใช้เทคโนโลยี Blockchain ดันส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ “ข้าว” รวมถึง ผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ ประมง ผงาดเวทีโลก ชี้เป็นโอกาสเปิดประตูเพิ่มความมั่นใจผู้ซื้อด้วยการตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงมือผู้บริโภค รองรับมาตรฐานการค้าที่ทาง “สหภาพยุโรป-สหรัฐฯ” วางกฎระเบียบเข้ม.

วันนี้ (5 กันยายน 2567) สํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดสัมมนานําเสนอผลการดําเนินโครงการ Blockchain ยกระดับเศรษฐกิจการค้า ระยะที่ 5 โดยมีเป้าหมายเผยแพร่องค์ความรู้ ประสบการณ์ และความสําคัญของการประยุกต์ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้า พร้อมรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบต้นแบบการตรวจสอบย้อนกลับ TraceThai.com โดยมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เข้าร่วม ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานคร และทางออนไลน์กว่า 150 ราย

โดยนายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อํานวยการสํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคุณภาพ และมาตรฐานสินค้าเกษตรไทย ดังนั้น สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาและพัฒนาระบบต้นแบบการตรวจสอบย้อนกลับ TraceThai.com ที่นำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ใน การตรวจสอบย้อนกลับธุรกิจหรือสินค้า (Traceability) มาตั้งแต่ปี 2563 ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจต่อมาตรฐานและคุณภาพสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ตลอดจน ผู้บริโภค เนื่องจากการบันทึกข้อมูลด้วยเทคโนโลยี Blockchain จะไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ ทำให้การตรวจสอบย้อนกลับเกิดความโปร่งใสและน่าเชื่อถือตามมาตรฐานที่ผู้ซื้อต้องการ

การดำเนินงานภายใต้โครงการที่ผ่านมา ประกอบด้วยการแสวงหาความร่วมมือจากเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และ ผู้ประกอบการที่ผลิต แปรรูปหรือจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนการขยายผลประเภท สินค้านำร่องในระบบต้นแบบฯ โดยในปี 2563 เริ่มต้นด้วยสินค้าข้าวอินทรีย์ที่ผ่านการรับรอง ตามมาตรฐาน Organic Thailand ของกรมการข้าว และมาตรฐานอินทรีย์สากล เช่น EU Organic, USDA และ IFOAM โดยมีผู้ใช้งานระบบต้นแบบฯ จำนวน 17 ราย/กลุ่ม

ต่อมาได้ขยายกลุ่มนำร่องผู้ใช้งานระบบต้นแบบฯ ไปยังสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่นๆ อาทิ ชา ถั่วเหลือง เห็ดถังเช่า เนื้อไก่ ปลานิล โกโก้ ผักสลัด และผลไม้อินทรีย์ พร้อมทั้งศึกษากลไกและแนวทางเชื่อมโยงกับระบบอื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย จนทำให้ ณ ปี 2567 มีกลุ่มนำร่องผู้ใช้งานระบบต้นแบบฯ รวม 160 ราย/กลุ่ม และในปีนี้ได้มีการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะการพัฒนาระบบต้นแบบฯ TraceThai.com ให้สามารถนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจและการดำเนินงานของภาครัฐด้วย

“สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ดำเนินการเรื่องนี้มาตลอด 5 ปี ช่วยสร้างความตระหนักรู้เรื่องกฎระเบียบและฝึกอบรมเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของระบบตรวจสอบย้อนกลับที่เป็นกลไกการตรวจสอบ ควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าไทย และช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการค้าระหว่างประเทศ ให้เติบโตและยั่งยืนต่อไป”

ด้านศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช หัวหน้าคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นําเสนอผลการดําเนินการ ประกอบด้วย การสร้างการรับรู้และฝึกอบรมการใช้งานระบบต้นแบบฯ ทําให้มีกลุ่มนําร่องผู้ใช้งานระบบต้นแบบฯ รวม 160 ราย/กลุ่ม และการศึกษาและจัดทําร่างข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบต้นแบบการตรวจสอบย้อนกลับ TraceThai.com เพื่อให้สามารถนําไปใช้งานจริงในการดําเนินธุรกิจและการดําเนินงานของภาครัฐได้ พร้อมรับฟัง ความคิดเห็นจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และผู้ที่สนใจ

นอกจากนี้ นางสาวสุปรานี ก้องเกียรติกมล ผู้อํานวยการส่วนยุโรป 1 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังได้ให้ความรู้และนําเสนอข้อมูลและมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับการตรวจสอบย้อนกลับ โดยเฉพาะมาตรการของสหภาพยุโรป อาทิ กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทําลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR) และมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างความสมดุลและความยั่งยืน หรือกรณี สหรัฐฯ มีมาตรการยกระดับการรับรองสินค้าออร์แกนิก เพื่อส่งเสริมให้มีการตรวจสอบย้อนกลับที่ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น

LATEST NEWS