Thursday, 28 November 2024 - 9:49 am
spot_img
Thursday, 28 November 2024 - 09:49
spot_img

กทพ.เดินหน้าสร้างทางด่วนสายใหม่อีก  10 สาย ในระยะ 10 ปี มูลค่าลงทุนรวมกว่า 4 แสนล้านบาท

กทพ.เดินหน้าสร้างทางด่วนสายใหม่อีก 10 สาย ในระยะ 10 ปี มูลค่าลงทุนรวมกว่า 4 แสนล้านบาท เล็งเพิ่มรายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์จากกว่า 300 ล้านบาท เป็น 600 ล้านบ้านภายใน 4 ปี ตั้งเป้าก้าวสู่ Net Zero Emission ภายในปี 2065 

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษฯ ครบรอบ 32 ปี โดยมีนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) เป็นประธาน และมีนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสูข ผู้ว่าการ กทพ. พร้อมด้วยผู้บริการ พนักงานและลูกจ้าง กทพ. ร่วมให้การต้อนรับ  ณ อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2567

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า กทพ. มีความมุ่งมั่นพัฒนาโครงข่าย ขยายเส้นทางเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชนมาตลอดระยะเวลา 52 ปี โดยปัจจุบันได้เปิดให้บริการทางพิเศษแล้ว 8 สายทาง ระยะทางรวม 224.6 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย ทางด่วนเฉลิมมหานคร, ทางด่วนศรีรัช, ทางด่วนฉลองรัช, ทางด่วนบูรพาวิถี, ทางด่วนอุดรรัถยา, ทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์, ทางด่วนกาญจนาภิเษก และทางด่วนประจิมรัถยา ซึ่งมีปริมาณการจราจรรวมกว่า 1.7 ล้านคัน/วัน และมีรายได้ประมาณ 68.7 ล้านบาท/วัน

การทางพิเศษฯ ยังมีแผนที่จะสร้างทางด่วนเพิ่มอีก 10 สายทางในระยะ 10 ปี งบลงทุนรวมประมาณ 4 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นทางเลือกที่มีความคุ้มค่า ปลอดภัย ได้มาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งเสิรมคุณภาพชีวิตคนไทย และยังมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอีกด้วย

ทั้งนี้ ขณะนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 โครงการ ซึ่งเป็นการขยายเส้นทางพิเศษไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-แหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ที่ปัจจุบัน “สะพานทศมราชัน” หรือสะพานพระราม 10 สร้างเสร็จ 100% โดยคณะผู้บริหาร และพนักงาน กทพ. รู้สึกปลื้มปีติ และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสะพานทศมราชัน ในวันที่ 14 ธ.ค. 2567 เวลา 17.00 น. จากนั้นจะมีการจัดกิจกรรมยิ่งใหญ่ ให้ประชาชนได้ร่วมเฉลิมฉลองสะพานด้วย

ส่วนโครงการทางพิเศษสายฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กม. ซึ่งได้ลงนามในสัญญาจ้างกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างงานก่อสร้าง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนรอการพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) คาดว่าจะเริ่มเข้าพื้นที่และก่อสร้างได้ในปี 2568 และจะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2570

สำหรับโครงการทางพิเศษที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคต มี 4 โครงการที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 256-2569 ประกอบด้วย 1.โครงการแก้ไขปัญหาจราจรระยะที่ 1 ทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม9) 2.โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง 3.โครงการทางพิเศษจังหวัดภูเก็ตระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ 4.โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (N2 เดิม)

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมขออนุมัติดำเนินการ มี 3 โครงการ คือ โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-ฉลองรัช (N1 เดิม) โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) และโครงการทางพิเสษสายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป อีกทั้งยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม อีก 2 โครงการ คือ โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า กทพ. ยังมีเป้าหมายจะเพิ่มรายได้จากการจัดหาประโยชน์จากพื้นที่ในเขตทางพิเศษอีกด้วย โดยปี 2567 มีรายได้อยู่ที่ 366.58 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 600 ล้านบาท ภายใน 4 ปีข้างหน้า 

นอกจากนั้น การทางพิเศษฯ ยังมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการให้บริการ สู่องค์กรคาร์บอนต่ำเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ผ่านโครงการต่างๆ โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าฐเรือนกระจกได้ 30% ในปี 2030 มุ่งสู่การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและมุ่งเน้นสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ระดับองค์กรในปี 2050 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ได้ภายในปี 2065

ผู้ว่าการ กทพ. เน้นย้ำด้วยว่า กทพ. คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการสร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ที่อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษไปแล้วกว่า 780 กิโลวัตต์ ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 3.7 ล้านบาท/ปี ลดคาร์บอนไดออกไซด์ 412.87 tonCo2e (ตันคาร์บอนไดออกไซด์) ต่อปีหรือเทียบเท่าการปลูกต้นสัก 469,173 ต้น คิดเป็นพื้นที่ป่า 4,692 ไร่ และยังได้รับการรับรองโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก จากองค์การบริการการจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

อีกทั้งปัจจุบัน กทพ. ได้เปลี่ยนหลอดไฟภายในอาคารสำนักงานเป็นชนิดประหยัดพลังงาน (LED) พื้นที่ปฏิบัติงาน และอาคารศูนย์ควบคุมทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี ทำให้สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 12.146 tonCo2 ต่อปี และยังร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ไทยในการเลือกใช้ปูนไฮดรอลิกในการก่อสร้างทางพิเศษ ตลอดจนจัดโครงการ EXAT POWER GREEN ภายใต้ชื่อกิจกรรม “EXAT รักษ์โลก” โดยเชิญชวนประชาชนผู้ใช้บริการทางพิเศษ เข้ากิจกรรมฯ ร่วมสร้างพื้นที่ สีเขียวด้วยการร่วมปลูกต้นไม้และร่วมเรียนรู้การอนุรักษ์ธรรมชาติลดปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก อีกด้วย

“การทางพิเศษฯ จะมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพในการให้บริการ โดยนำระบบเทคโนโลยี AI เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาจราจร และอำนวยความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ในเมืองและนอกเมือง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรฐานการเดินทาง สร้างความสุขให้กับคนไทย ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 53 ด้วยคำจำกัดความว่า พัฒนาเส้นทาง สร้างแรงบันดาลใจ ก้าวไปสู่ Net Zero Society” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

นอกจากภารกิจหลักในการสร้างทางพิเศษแล้ว กทพ. ยังให้ความสำคัญกับเยาวชน โดยได้สนับสนุนทุนการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 1,247 ทุน เป็นเงินทั้งสิ้น 7,730,000 บาท อีกทั้ง มีส่วนร่วมในการส่งเสริม พัฒนาและสนับสนุนการแข่งขันกีฬาในระดับประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาด้านกีฬาให้เกิดความยั่งยืนโดยได้ให้การสนับสนุนสมาคมกีฬายิงเป้าบิน และสมาคมกีฬาเทคบอลแห่งประเทศไทย

LATEST NEWS